JMT -KBANK ปั้นบริษัทร่วมทุน ล้างหนี้เสีย ก้อนแรกเฉียดหมื่นล้าน

JMT -KBANK ปั้นบริษัทร่วมทุน ล้างหนี้เสีย ก้อนแรกเฉียดหมื่นล้าน

กสิกรไทย” จับมือ “เจเอ็มที” ตั้งบริษัทร่วมทุน “เจเค” ลุยธุรกิจเอเอ็มซี หลังธปท.ไฟเขียว คาดรับบริหารหนี้เสียแบงก์ เฉียด “หมื่นล้าน” คาดความร่วมมือหนุนผลดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องระยะยาว

     นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า วันนี้ ( 30 มิ.ย.) บริษัทและธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK จะประกาศความมือครั้งแรกในไทยในการจัดตั้งธุรกิจร่วมกัน หรือ JVAMC บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ คือบริษัท เจเค (JK) ที่ร่วมทุนระหว่างบริษัทลูกเจเอ็มที คือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (JAM) และ ธนาคารกสิกรไทย

       โดยการจัดตั้งเจวีเอเอ็มซีครั้งนี้ร่วมกัน บริษัทสินทรัพย์ เจ และ กสิกรไทย จะถือหุ้นเท่ากันคือ 50% เพื่อรับบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสียของธนาคารกสิกรไทย ทั้งที่เป็นหนี้มีหลักประกัน เช่น จากพอร์ตธุรกิจเอสเอ็มอี และหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน จากพอร์ตรายย่อย เข้ามาบริหาร ซึ่งคาดว่าจะมีหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาในพอร์ตของบริษัทร่วมทุนเจเค ใกล้เคียงระดับหมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่ใหญ่ และใกล้เคียงกับที่บริษัทเจเอ็มทีรับซื้อหนี้เสียต่อปีมาบริหาร
 

      ดังนั้น เชื่อว่าการร่วมมือครั้งนี้จะหนุนให้บริษัทมีการเติบโตและเกิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจเอเอ็มซีในระยะยาวมากขึ้น เพราะทั้งบริษัทและกสิกรไทยจะร่วมมือกันในการทำให้กระบวนการติดตามหนี้ การแก้หนี้ภายใต้บริษัทร่วมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     อย่างไรก็ตาม สำหรับพอร์ตหนี้เสียที่นำมาบริหาร ถือว่ามีความสดใหม่ ที่แก้ไขได้ง่าย และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีร่วมกันในระยะข้างหน้า โดยหนี้เสียที่นำมาบริหารจะเริ่มตั้งแต่อายุ 3 เดือนหรือเกิน 90 วันขึ้นไป 6 เดือน หรือ 12 เดือนขึ้นไป ซึ่งต่างกับหนี้ที่บริษัทประมูลผ่านระบบที่ปกติเป็นหนี้ที่ค้างอยู่ในระบบมานาน เกิน 2-3 ปีไปแล้ว ทำให้การบริหารหนี้ง่ายขึ้น หากเทียบกับหนี้เก่าในระบบ

      “การจับมือครั้งนี้กับกสิกรไทย ไม่ได้มาเปลี่ยนการทำธุรกิจเดิมเรา เราก็ยังสามารถเข้าไปประมูลงานในระบบได้ปกติ แต่การเจวีเอ็มซีครั้งนี้ จะทำให้เกิด Expansion growth หรือการเติบโตจากธุรกิจเดิมมากขึ้น ในโมเดลใหม่ ซึ่งหากเจวีกันด้วยไซส์เล็ก ก็คงไม่มีประโยชน์ ดังนั้นครั้งนี้ก็มีทั้งขนาดไซส์ ที่ได้สเกลพอสมควร หนี้ใหม่ขึ้น โดยปกติหนี้ส่วนนี้แบงก์จะไม่ขายออกมา ดังนั้นเชื่อว่า จะทำให้เราเกิดความยั่งยืนในระยะยาวมากขึ้น”

      ทั้งนี้ สำหรับบริษัทร่วมทุนดังกล่าว ปัจจุบันได้ใบอนุญาต หรือไลเซนส์ จากธปท.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้หนี้ครัวเรือน ขณะที่แบงก์เอง และบริษัทก็อยากช่วยลูกค้า ดังนั้น ดีลหรือความร่วมมือจึงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก

      ส่วนจะมีการตั้งเจวีเอ็มซีร่วมกับธนาคารอื่นอีกหรือไม่นั้น ขณะนี้ ต้องขอโฟกัส ที่การบริหารหนี้ของกสิกรไทย ก่อน เพราะขนาดหนี้เสียที่เข้ามาถือว่ามีขนาดที่ใหญ่ แต่ภายใต้สัญญาก็ไม่ได้มีการทำสัญญาว่า ต้อง exclusive เฉพาะกับกสิกรไทยเท่านั้น

      “ขอบคุณกสิกรไทย ที่เห็นความสามารถ JMT ในการเข้าไปช่วยบริหารหนี้ และด้วยความคิดที่เหมือนกันคือการช่วยลูกค้า ทำให้ดีลเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งแบงก์และเรามองเหมือนกัน ค่าสินสอดถือว่าสูงมาก เพราะลงเรือลำเดียวกัน ดังนั้นไซส์ต้องได้ ด้วยไซส์ขนาดนี้ มองคนอื่นๆคงมองไม่ได้แล้ว”

     สำหรับพอร์ตหนี้เสียภายใต้บริหารของ JMT ปัจจุบันมีอยู่กว่า 2.4 แสนล้านบาท มีทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน

      JMT -KBANK ปั้นบริษัทร่วมทุน ล้างหนี้เสีย ก้อนแรกเฉียดหมื่นล้าน ส่วนการตั้งเป้าหมายในการเข้าไปซื้อหนี้มาบริหารปีนี้ เฉพาะในส่วนของบริษัท ตั้งเป้าใช้งบซื้อหนี้เสียมาบริหารระดับหมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มต่อเนื่องหากเทียบกับปี 2564 ที่ใช้เงินซื้อหนี้เพียง 8,000 ล้านบาท