สศค.เกาะติดสงครามยูเครนกระทบราคาพลังงาน-เงินเฟ้อ
สศค.เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค. ยังขยายตัวปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน แต่ยังติดตามใกล้ชิดสงครามยูเครนกระทบต่อระดับราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพของประชาชน
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ได้ส่งผลกระทบต่อระดับราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพของประชาชนอย่างใกล้ชิด
โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 29.0 และ 15.7 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 1.9 และ 5.2 ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนพฤษภาคม 2565 ขยายตัวเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 13.3
ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.0 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -2.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและระดับราคาสินค้าทั่วไปปรับตัวสูงขึ้น
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 10.6 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2
สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -11.7 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -3.5 ขณะที่ ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 24.6 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -8.4
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนพฤษภาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 11.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.7 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา ไข่ไก่ และสินค้าในหมวดไม้ผล เป็นต้น
สำหรับด้านบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนพฤษภาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 521,410 คน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 8,515.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 116.8 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนพฤษภาคม 2565 จำนวน 15.8 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1,053.2 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 30.3 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 84.3 จากระดับ 86.2 ในเดือนเมษายน 2565 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.10 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.28 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 60.8 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.58 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด
สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 230.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ