"กัลฟ์" เดินหน้าผนึก "พันธมิตร-เทคโนโลยี" สร้างผลตอบแทนนักลงทุน
“กัลฟ์” ดำเนินธุรกิจภายใต้การเรียนรู้เทรนด์การเติบโตธุรกิจทั่วโลก เดินหน้า "ผนึกพันธมิตร - ชูเทคโนโลยี" หนุนบริหารจัดการธุรกิจในไทย ภายใต้การคำนึงถึงผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
นายสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา "ส่องหุ้นไทย 2022 : ขับเคลื่อนธุรกิจรับอนาคต” ในหัวข้อ “พลิกเกมสู่ Tech Company รับโลกยุคใหม่” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่มีแนวทางดำเนินธุรกิจที่คล้ายกัน ประกอบด้วย การดูเทรนด์การเติบโตโลก อาทิ พลังงานสะอาด สุขภาพ
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปจากการเริ่มต้นธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยธุรกิจหลักคือ ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีกำลังผลิตราว 9,000 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มอีกหลายพันเมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าสิ้นปี 2024 จะมีกำลังรวม 1.4 หมื่นเมกะวัตต์ ทั้งนี้ นอกจากวิชั่นแล้ว สิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจคือ กระบวนการเราเรียนรู้โดยนำนวัตกรรมมาสร้างยุทธศาสตร์องค์กร จากการดำเนินธุรกิจเดิมแค่ของการทำก๊าซ ปรับสู่พลังงานสะอาด ลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง โครงสร้างพื้นฐานทางด่วน การลงทุนโทรคมนาคม และลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
“สิ่งสำคัญคือ กระบวนการเรียนรู้อยู่ในองค์กรพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา และการเรียนรู้จะต้องไม่กระทบผู้ถือหุ้น เราจะพิจารณาธุรกิจนอกจากเทรนด์โลกอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องดูความคุ้มค่าผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และตระหนักในเรื่องของการใช้งบประมาณแม้บริษัท จะมีรายได้เป็นแสนล้านบาท แต่การจะนำงบประมาณมาใช้วิจัย และพัฒนาจะไม่ได้มากมายเท่าไร เพราะบริษัทจะมีวิธีการเรียนรู้ทางอ้อม”
นายสมิทธ์ กล่าวว่า กัลฟ์ดำเนินธุรกิจด้วยวิธีการสร้างมูลค่าให้นักลงทุน จะเห็นได้ว่ามีการลงทุนที่ต่างประเทศมากมาย อาทิ การลงทุนพลังงานลมที่ประเทศเยอรมนี เพื่อหาความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย ที่มาพร้อมกับความคุ้มค่าที่ไม่ใช้รายได้อย่างเดียว เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เมื่อ 10 ปีก่อนโซลาร์มีต้นทุนต่อหน่วยอยู่ที่ 100 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งต่างจากปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด
“หลายคนบอกว่าทำไมเราไม่ลงทุนแบตเตอรี่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไม่ใช่ว่าเราไม่ดู แต่เราจะดูจุดคุ้มทุน ว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน เรายืนฝั่งเดียวกับเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีก้าวไปเราต้องปรับตัวได้ หากสร้างโรงงานแล้วต้องเอาเทคโนโลยีมาเลย การลงทุนกว่าจะคุ้มทุนใช้เวลา 5-10 ปี และด้วยเทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนรวดเร็ว ยังไม่ทันผลิตรถขาย เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแล้ว จึงเป็นอีกหลักการที่ยังไม่ลงทุน”
นอกจากนี้ การผลึกพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ จะต้องดูผลตอบแทนระยะยาว เช่น การซื้อขายไฟฟ้าประเทศยุโรป หรือในอเมริกา ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สามารถซื้อขายไฟฟ้าได้ตรงผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงสามารถเลือกซื้อเฉพาะพลังงานสะอาด 100% ก็ได้ อีกทั้ง ค่าไฟฟ้ามีการปรับราคาได้ตลอด และเมื่ออนาคตประเทศไทยสามารถทำได้ บริษัท ก็จะมีความชำนาญสามารถปรับวิธีซื้อขายไฟได้อย่างไม่สะดุด
“จากการเรียนรู้ส่งผลให้เราเติบโตแบบก้าวกระโดด การประมูลโครงการแต่ละครั้งประสบความสำเร็จเนื่องจากการใช้ถึงนวัตกรรมที่ดีบริหารต้นทุนทำให้ได้ราคาที่ดี และมีประสิทธิภาพ เราส่งคนไปเรียนรู้เทคโนโลยีตลอดเวลาจากก้าวปัจจุบันไปสู่อนาคต”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์