ระเบิดเวลาลูกใหญ่ "กองทุนน้ำมัน" ติดลบแสนล้าน
"กองทุนน้ำมัน" ติดลบหลักแสนล้าน เพิ่มความยากลำบากในการบริหารราคาพลังงาน ทำให้การขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยอาจสูงกว่าตลาดโลก เพราะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจนกว่าจะพ้นสถานะติดลบ
ระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เป็นผลกระทบจากราคาพลังงานทรงตัวอยู่ในระดับสูงครั้งนี้ คือ สถานะ "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ที่ติดลบ 102,586 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 มิ.ย. 2565 แบ่งเป็นการติดลบของบัญชีน้ำมัน 65,202 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี 37,384 ล้านบาท
โดยถ้าย้อนไปดูข้อมูลในวันที่ 27 ก.พ.2565 หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนได้ 3 วัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 21,838 ล้านบาท โดยบัญชีแอลพีจีติดลบ 26,826 ล้านบาท ในขณะที่บัญชีน้ำมันยังเป็นบวก 4,988 ล้านบาท
ประเทศไทยใช้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานต่อเนื่องมากว่า 40 ปี นับตั้งแต่รัฐบาลจัดตั้งกองทุนรักษาระดับ "ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง" ในปี 2520 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลเข้าไปดูแลราคาพลังงานหลังจากเกิดวิกฤติน้ำมันปี 2516-2517 และมีการปรับเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายที่รองรับกองทุนมาตลอด จนถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ซึ่งทั้งหมดใช้หลักการเดียวกัน คือ การส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อรักษาระดับราคาเชื้อเพลิง
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นช่องที่กองทุนน้ำมันติดลบสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ รองลงมาเป็นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2547-2549 ที่ติดลบ 92,000 ล้านบาท ซึ่งในครั้งนั้นใช้เวลาหลายเดือนที่จะรักษาสถานะกองทุนให้กลับมาเป็นบวก แต่สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันมีสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่า เพราะราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูง ในขณะที่ภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติเมื่อใด ดังนั้นจึงเป็นภาระหนักในการดูแลราคาพลังงานนับจากนี้
"กระทรวงพลังงาน" ยังคงใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลราคาดีเซลและแอลพีจี โดยข้อเสนอหลายแนวทางที่จะบรรเทาราคาพลังงานไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการลดเติมไบโอดีเซลลงในดีเซล โดยราคาไบโอดีเซลปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 51.31 บาท สูงกว่าราคาปลีกของดีเซลที่ลิตรละ 34.94 บาท ทำให้ไบโอดีเซลมีราคาสูงกว่าดีเซลมาก รวมถึงการดึงค่าการกลั่นมาช่วยอุดหนุนราคาเบนซินและเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเจรจามานานและยังไม่ได้ข้อสรุป
การที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบมากกว่า 100,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 ยังไม่สามารถกู้ได้ ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีความยากลำบากในการบริหารราคาพลังงานมากขึ้น รวมทั้งเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง แต่การขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยจะสูงกว่าตลาดโลก เพราะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจนกว่าจะพ้นสถานะติดลบ ระเบิดลูกใหม่ของรัฐบาลจึงกำลังก่อตัว