‘นักวิชาการ’ถอดบทเรียน 25 ปี ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แนะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันศก.
ถอดบทเรียน 25 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง นักวิชาการชี้เหตุวิกฤตจากการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงความสมดุล แนะเร่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเป็นภูมิคุ้มกันในการรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในเดือนกรกฎาคมปีนี้จะครบรอบ 25 ปี ที่ประเทศไทยเคยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงในปี 2540 หรือที่รู้จักกันดีว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ทั้งนี้แม้เหตุการณ์ในครั้งนั้นจะผ่านมากว่า 25 ปีแล้ว แต่ยังมีบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้จากวิกฤตในครั้งนั้นเพื่อไม่ให้เดินซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตที่อาจจะนำไปสู่วิกฤตในครั้งต่อไปได้
“กรุงเทพธุรกิจ” พูดคุยกับ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นว่าสามารถที่จะถอดบทเรียนจากวิกฤตในครั้งนั้นได้อย่างไรบ้าง
“บทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้ง สำหรับผมคือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่สมดุลครับ การเติบโตเศรษฐกิจที่ดีต้องเติบโตอย่างเหมาะสมด้วยพื้นฐานที่เข็มแข็ง” ดร.นนริฎเริ่มตอบคำถามเมื่อถูกถามความเห็นเรื่องวิกฤตต้มยำกุ้ง
ก่อนที่เขาจะขยายความว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลในความหมายของเขาประกอบไปด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจหลายส่วน ให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ได้แก่
ประการแรก คือ การสร้างความเข็มแข็งของธุรกิจในที่สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก
ประการที่สอง คือ ภาคประชาชนที่เข็มแข็งทั้งในเรื่องการแสวงหาความรู้ ทักษะ ขยันหมั่นเพียร มีความสามารถ มีทักษะการทำงานในระดับสูง ในขณะเดียวกันก็มีการบริหารการเงินครัวเรือนอย่างเหมาะสม พอเพียงด้านรายรับ-รายจ่าย มีเงินออมสูงเตรียมเพื่อฉุกเฉิน เพื่อการพัฒนาตนเองและครอบครัว
ประการที่สาม คือ การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเงิน ธนาคาร ระบบประกันภัย ตลาดเงิน และตลาดทุนเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในแง่การเป็นแหล่งทุนสำหรับธุรกิจทุกขนาด และเป็นแหล่งสะสมเงินออมที่ให้ผลตอบแทนสูงสำหรับประชาชนทั่วไป
และ ประการที่สี่ คือ ภาครัฐที่ทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส ดูแลธุรกิจให้เกิดการแข่งขัน สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา ตลอดจนดูแลคนตกหล่น ดูแลกลุ่มเปราะบางทางสังคม
“วิกฤติ 40 เราเติบโตแบบไม่มีพื้นฐานรองรับที่ดี เป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ใน ภาคอสังหา-การเงิน-ตลาดทุน และการแทรกแซงตลาดของ ธปท. เพื่อรักษาค่าเงิน จนกลายเป็นระเบิดเวลาเมื่อฟองสบู่แตก”
ดร.นนริฎกล่าวต่อไปว่าหากมองต่อในอนาคต การเติบโตในลักษณะวิกฤติ 2540 เกิดขึ้นได้ในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจ ไม่ได้มาจากความสามารถในการแข่งขัน แต่มาจากการแทรกแซงของรัฐบาลก็จะไม่พ้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติหนี้ตามมาได้ในอนาคต