สศก.เปิดโครงสร้างพื้นฐาน ฮับ"เกษตรอินทรีย์"อาเซียน
ต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆรวมทั้งภาคการเกษตรเป็นแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่การนำเทคโนโลยีมาใช้และการปรับรูปแบบการทำเกษตรเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่นปุ๋ยเคมี ดังนั้น “เกษตรอินทรีย์”จึงเป็นทางเลือก ทางออกที่น่าสนใจแห่งอนาคต
ในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ได้ นำเสนอ ผลสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 - 2565 ซึ่งผลการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ได้รวม 5,345.33 ล้านบาท
ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เพื่อขับเคลื่อนด้านเกษตรอินทรีย์ต่อไป สศก. ได้เสนอร่างแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยร่างแผนปฏิบัติการฯมี วิสัยทัศน์ ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน ในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่า บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2570 มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน ในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น 2 ล้านไร่ ในปี 2570 มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (PGS/ มกษ. 9000/มาตรฐานสากล) ไม่น้อยกว่า 1.3 แสนรายในปี 2570 และมีสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี
ชมชวน บุญระหงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาตามร่างแผนปฏิบัติการฯ แบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ ด้านส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ จำนวนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่องต่อปี และ ฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 1 ระบบ ในปี 2570 โดยให้เน้นการส่งเสริมวิจัยแบบมีส่วนร่วม พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์และนวัตกรรม
อิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป การผลิตโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายคือเกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อปี จำนวนศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบ วงจรใน 18 กลุ่มจังหวัด อย่างน้อยกลุ่มจังหวัดละ 1 แห่ง ภายในปี 2570 และ จำนวนสถาบันเกษตรกรที่ทำหน้าที่รวบรวมและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า10% ต่อปี
พิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาเพื่อ ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ โดยยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ และ ยกระดับการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายได้ แก่มาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ของไทยเท่าเทียมกับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ภายในปี 2570 จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองระบบงานตามระบบสากล เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แห่ง 2570 และ จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองของไทยขึ้นทะเบียนอยู่ในรายชื่อหน่วยตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์กับประเทศคู่ค้าหลักอย่างน้อย 2 แห่ง
ทั้งนี้ เห็นควรเน้นความสำคัญของการขับเคลื่อนขยายผลมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) โดยได้จัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการส่งเสริมระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System)
ทั้งนี้ สศก. จะนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ประกอบการปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอแผนฉบับสมบูรณ์ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อทราบ รวมถึงนำแผนเข้าสู่ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) พร้อมทั้งประกาศใช้ต่อไป