เปิดเหตุผลยอดใช้ “ดีเซล” พุ่ง แม้ราคาทะยานขึ้นไม่หยุด
เปิดเหตุผลยอดการใช้น้ำมัน “ดีเซล” ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 แม้ว่าราคาน้ำมันจะยังคงมีราคาสูง อีกทั้ง "กระทรวงพลังงาน" ได้เริ่มทะยอยลดการอุดหนุนลงและปรับขึ้นครั้งละลิตรละ 1 บาท แต่ปริมาณการใช้งานกลับพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกได้เริมมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง ภายหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากทั่วโลกได้มีการคลายล็อกดาวน์ และยิ่งไปกว่านั้น สงครามระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ยังเป็นกระตุ้นให้ราคาพลังงานทั่วโลกมีความผันผวนและพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าราคาน้ำมันดีเซลที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ปริมาณความต้องการน้ำมันไม่ได้ลดลง เนื่องจากประเทศไทยได้เริ่มนโยบายเปิดประเทศ การเปิดภาคเรียน การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ การใช้ชีวิตหรือการประกอบอาชีพได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงทำให้ปริมาณการใช้งานที่เคยขาดหายไปกลับเพิ่มปริมาณมาก
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนม.ค.–พ.ค. 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.4% แบ่งเป็นการใช้กลุ่มดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 75.81 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 15.6%) การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาน้ำมันให้ไม่เกิน 30-32 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.70 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น 69.5%)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค. 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.18 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.20 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.38 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 57.7%) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ
ก๊าซ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.89 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 9.5%) เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.03 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 13.9%) ภาคขนส่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.05 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 15.7%) ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.03 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 9.7%) และภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.78 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 2.1%)
การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.33 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 2.0%) โดย ปตท. ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเคยได้รับสิทธิผ่านมาตรการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกภาคส่วน และน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 20.0%
ส่วนกลุ่มเบนซินลดลง 0.3% เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง การใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 29.71 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง 0.3%) เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 6.97 ล้านลิตร/วัน 5.74 ล้านลิตร/วัน และ 0.57 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.45 ล้านลิตร/วัน และ 0.99 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนม.ค.–พ.ค. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000,569 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 8.9%) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 937,101 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น 6.7%) สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 98,388 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 91.8%)
สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63,468 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,490 ล้านบาท/เดือน
ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนม.ค.–พ.ค. 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 170,459 บาร์เรล/วัน (ลดลง 4.8%) คิดเป็น มูลค่าส่งออกรวม 20,690 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 86.2%)