สศค.ชึ้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ25ปีที่แล้ว

สศค.ชึ้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ25ปีที่แล้ว

สศค.ชึ้โครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบันยังแข็งแกร่ง​ โดยมีเสถียรภาพทั้งทางการเงินและการคลัง​ จึงยังมีศักยภาพในการใช้นโยบายเพื่อบริหารจัดการปัญหาได้ทันท่วงทีต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจขาดความสมดุลในหลายด้าน​

นายพิสิทธิ์​ พัวพันธ์​ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค​ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวถึงกรณีที่เศรษฐกิจไทยครบรอบ​ 25​ ปีวิกฤตต้มยำกุ้งว่า
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ผลกระทบจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องชะลอลง

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แตกต่างจากสถานการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งดังเช่นในปี 2540 ทั้งสาเหตุของปัญหา โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สถานะการเงินการคลัง การบริหารจัดการของภาครัฐ ล้วนแตกต่างกัน

 

โดยวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตทางการเงินที่เกิดจากการที่เศรษฐกิจไทยขาดความสมดุลในหลายด้าน ทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มีสัดส่วนถึง 65% ของจีดีพีและสัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.7 เท่า

ขณะที่​ สถาบันการเงินในประเทศมีการปล่อยสินเชื่อที่ขาดประสิทธิภาพ และเกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีนโยบายเปิดให้เคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นแบบคงที่ ทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไม่มีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ วิกฤตต้มยำกุ้งส่งผลกระทบจากบนลงล่าง โดยเริ่มจากกลุ่มคนรวยและสถาบันการเงินก่อน แต่ก็ถือเป็นโอกาสของกลุ่มส่งออก และการท่องเที่ยวเนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก

ขณะที่​ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน การแพร่ระบาดเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้จำกัดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ไขสถานการณ์จนคลี่คลายลง ตอนนี้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้แล้ว เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว

ส่วนปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังคงมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่แข็งแกร่ง ไทยจึงยังมีศักยภาพในการใช้นโยบายทั้งด้านการเงินการคลังในการบริหารจัดการเพื่อดำเนินมาตรการเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ทันท่วงที

พร้อมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 กลับมาขยายตัวได้ที่ 1.5% ต่อปี และมีแนวโน้มจะทยอยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.0-3.5% ต่อปี และเศรษฐกิจที่ฟื้นส่งผลให้การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนทยอยปรับดีขึ้น

นอกจากนี้ ไทยมีเสถียรภาพด้านการเงินและด้านต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่แม้ขาดดุลเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเหมือนในวิกฤตปี 2540 ที่ไทยขาดดุลต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศระยะสั้น ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 มีสัดส่วนเพียง 39% ของจีดีพี สัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้น ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 2.7 เท่าของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 230 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะ ณ เดือน พฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 60.9% ของจีดีพี ต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ และสภาพคล่องที่ยังอยู่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ ชีวิตวิถีใหม่ในช่วงโควิด-19 ได้ผลักดันให้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทที่มากขึ้นและสร้างโอกาสใหม่ ๆ อาทิ e-Payment Online Delivery e-Commerce e-Learning รวมถึง​ ภาครัฐได้นำมาประยุกต์ใช้ในการออกมาตรการช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันยังมีสาเหตุหลักมาจากแรงกดดันจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นหลัก การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมถึง​ การฟื้นตัวจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป