ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาพุ่ง 9.30 บาท/กก.
แนวโน้มราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2565 ที่เกษตรกรขายได้ ความชื้นไม่เกิน 14.5% จะสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก.
กาญจนา แดงรุ่งโรจน์ ระบุ แนวโน้มราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2565 ที่เกษตรกรขายได้ ความชื้นไม่เกิน 14.5% จะสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.- มิ.ย.) ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ (กก.) 9.30 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 16%
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) โดยผ่อนปรนมาตรการการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราว ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศยังออกสู่ตลาดไม่มาก เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาภายในประเทศ
พร้อมทั้งผ่อนปรนการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ในโควตาซึ่งจากเดิมให้เฉพาะองค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว ในอัตราภาษี 20% ปริมาณ 57,000 ตัน ได้ปรับใหม่โดยให้ อคส.และผู้นำเข้าทั่วไปสามารถนำเข้าได้ในอัตราภาษี 0% ปริมาณไม่เกิน 6 แสนตัน หากมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ นับตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 เป็นต้นมา รวมทุกช่องทางปริมาณเกินกว่า 1.20 ล้านตัน ให้สิ้นสุดการผ่อนปรนและกลับไปใช้มาตรการเดิม
เบื้องต้น สศก.ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตฤดูการผลิตปี 2565/2566 ทั้ง 3 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 (ฤดูฝน) รวมประมาณ 1.41 ล้านไร่ คิดเป็น 23% ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ลดลงจากปี 2564/2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมประมาณ 1.42 ล้านไร่ หรือลดลง 0.67% เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ปุ๋ยเคมี สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นที่มีต้นทุนต่ำและให้ผลตอบแทนดีกว่า