กระแสแรง JAS-JASIF ทิ้ง “ปมใหญ่” หลังขายธุรกิจหลัก

กระแสแรง JAS-JASIF  ทิ้ง “ปมใหญ่” หลังขายธุรกิจหลัก

โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เทคโอเวอร์ บริษัท ทริปเปิล ที บรอดแบนด์ หรือ TTTBB ของกลุ่ม จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS และเข้าซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF รวม 32,420 ล้านบาท

          ก่อให้เกิดโอกาสธุรกิจมากมายสำหรับ ADVANC แต่ในส่วนของ JAS กลับเต็มไปด้วยความกังวลใจในด้านธุรกิจ  จากนี้จะเป็นอย่างไรหลังขายธุรกิจหลักไปแลกกับเงินสดเข้ามาอยู่ในมือจะคุ้มค่าแค่ไหน

            ส่วนของ JAS แบ่งเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และอินเทอร์เน็ต มี “TTTBB”  2. ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม  มี “ทรี บีบี ทีวี”  “จัสมิน ซับมารีน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ ”  3. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยี โซลูชัน   มีบริษัท “จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น หรือ JTS” “คลาวด์ คอมพิวติ้งโซลูชั่นส์”  “จัสเทล เน็ทเวิร์ค”  4. ธุรกิจอื่นๆ มีบริษัท “พรีเมียม แอสเซท” “อคิวเมนท์” “โมโน เน็กซ์ หรือ MONO”

            จากรายได้ของ JAS ในปี 2564 อยู่ที่  20,372 ล้านบาท  ขาดทุน  1,500 ล้านบาท  รายได้ส่วนใหญ่มาจาก ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และอินเทอร์เน็ตทีวีที่ 18,033 ล้านบาท   หรือคิดเป็น  98% ของรายได้ !!!

              ส่วน JASIF  เป็นการเข้าซื้อสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ จาก TTTBB  และมี JAS ถือหน่วยลงทุนที่ 19%  ที่ผ่านมามีการซื้อสินทรัพย์ไปรวมมูลค่า 103,683 ล้านบาท ประกอบไปด้วย  เส้นใยแก้วนำแสง 980,500  คอร์กิโลเมตร และซื้อเพิ่ม 70,000 คอร์กิโลเมตร  รวม 1,680 ล้านคอร์กิโลเมตร  ณ วันที่ 31 พ.ค.2565  JASIF มีมูลค่ากองทุน 88,264 ล้านบาท  มีอัตราการจ่ายปันผลที่ 10%

   เมื่อไปอยู่ภายใต้ถือลงทุนของ ADVANC  ทำให้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ก้าวกระโดดจากอันดับ  4 ท้ายแถวขึ้นมาเป็นอันดับ  2 รองจาก กลุ่ม ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE  ที่ครองตลาดอันดับ 1 ในตอนนี้ 

            สำหรับ ADVANC ธุรกิจอินเตอร์บรอดแบนด์สตาร์ทการแข่งขันปี 2558 จากลูกค้าศูนย์รายจนตอนนี้มีอยู่ในมือ 1.8 ล้านราย สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 6%  จากรายได้รวมปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท

            รวมไปถึงการเข้าถึงเป้าหมายการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ของ ADVANC ที่ยังไม่มีทั้งที่สินทรัพย์จากธุรกิจโทรคมนาคมขายเข้ากองทุนตั้งแต่สายไฟเบอร์ , เสาโทรคมนาคม ที่เอไอเอสเป็นเจ้าของมีมากว่า 2.2 หมื่นเสา  จากตัวเลขสินทรัพย์เหล่านี้สิ้นปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 264,707 ล้านบาท  และยังมีที่กำลังก่อสร้างและติดตั้งอีก 8,164 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแหล่งระดมทุนให้กับ ADVANC ในอนาคต

            ด้าน TRUE อาศัยเงินระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ  DIF  เช่นกัน ด้วยขายสินทรัพย์ทั้งเสาสัญญาณ และ ระบบใยแก้วนำแสงเข้ากองทุนไปแล้ว 223,885 ล้านบาท  ทำให้มูลค่ากองทุน ณ 31 มี.ค. 2565 อยู่ที่ 176,336  ล้านบาท ซึ่ง TRUE เป็นผู้ถือหน่วยรายใหญ่ที่ 23.38%

            หากมองด้านการลงทุนราคาหุ้น ADVANC มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จากดีลดังกล่าว ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน  ระบุประโยชน์การเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขัน และปิดจุดอ่อนของ ADVANC ในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง   จากผู้เล่นหมายเลข 4 ขึ้นสู่อันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 40-45%  หลังธุรกรรมแล้วเสร็จ

        ขณะเดียวกันการเข้าซื้อ  JASIF นอกจากจะทำให้ JAS สิ้นสุดความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้วยังทำให้มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคต ADVANC อาจจะขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯ หรือใช้กองทุนในการ funding โครงการลงทุนต่างๆ ในอนาคต และอาจทำให้นักลงทุนกลับมาคาดการณ์เกี่ยวกับปันผลพิเศษอีกครั้ง มองดีลนี้เป็นบวกต่อแรงเก็งกำไรในหุ้น  JAS และ ADVANC

        การเก็งกำไร JAS ยังมีปัจจัยที่น่าติดตาม บล.หยวนต้า ระบุว่าให้ ดีล ADVANC ซื้อ TTTBB และ JASIF ในระยะสั้นเผชิญงบ  TTTBB ขาดทุนกดดัน แต่อนาคตสดใสเนื่องจากเน็ตบ้านมีการเติบโตก้าวกระโดด  4.2 ล้านรายต่อปี  รวมทั้งยังมีกระแสแรงที่นักลงทุนยังต้อง รอการชี้แจงจากผู้บริหารกองทุน JASIF  เนื่องจากมีสัญญาว่า JAS จะไม่ขาย JASIF ก่อนปี  2568 !!!

        ที่สำคัญอนาคตของ JAS ภายใต้กลุ่ม “โพธารามิก” เดินเกมธุรกิจที่ “เร้าใจ” และ “อันตราย” ต่อใจนักลงทุนแค่ไหนหลังเงินทุนพร้อม  !!!

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์