‘ใบบัวบก’ ราคาพุ่ง 4 เท่า! ทะลุ 60 บาท/กก.

‘ใบบัวบก’ ราคาพุ่ง 4 เท่า! ทะลุ 60 บาท/กก.

อย่าเพิ่งอกหักหรือช้ำในกันตอนนี้ ราคา “ใบบัวบก” ทะยานขึ้นต่อเนื่องเป็นกิโลละ 60 บาท จากเดิม 15 บาท เหตุน้ำมันกับปุ๋ยแพง

สถานการณ์ราคาสินค้าที่ขยับขึ้นอย่างต่ออันเนื่อง จากราคาน้ำมันและปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนใบบัวบกได้รับผลกระทบจนต้องขยับราคาขายขึ้นตามเช่นกัน ซึ่งแม้ราคาขายจะขยับขึ้นมาอีก 4 เท่า แต่ชาวสวนยืนยันว่าราคาขายกิโลกรัมละ 60 บาท ก็แทบไม่เหลืออะไรเช่นกัน ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่แหล่งเพาะปลูกต้นใบบัวบกใน อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกใบบัวบกมากที่สุดใน จ.นนทบุรี ได้พบกับ นางแหม่ม เย็นเพชร อายุ 52 ปี ชาวสวนใบบัวบก หมู่ 9 ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า ผลพวงจากราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาต้นใบบัวบกจากเดิมต้นปีอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท ปัจจุบันต้องขยับราคามาเป็น 60 บาทต่อกิโลกรัม ตามสภาวะที่ต้นทุนสินค้าต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้นเป็นอย่างมาก

ทำให้ชาวบ้านที่เพาะปลูกต้นใบบัวบกไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไหว จำเป็นต้องปรับราคาขายหน้าสวนเพื่อให้อยู่รอด
นางแหม่ม กล่าวอีกว่า การเพาะปลูกใบบัวบกแม้จะไม่ค่อยมีแมลงมารบกวน แต่ชาวสวนก็มีต้นทุนที่ใช้ปุ๋ย รวมทั้งการให้น้ำและสร้างแสลนเพื่อให้ร่มเงาที่เหมาะสม โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะมาสั่งซื้อไปทำยา เพราะใบบัวบกเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มาก นอกจากจะใช้เป็นตัวยารักษาอาการอักเสบ หรือนำไปใช้สกัดเป็นตัวยาในวงการเสริมสวยความงามแล้ว ยังมีสรรพคุณแก้ช้ำในอีกด้วย แม้ว่าปัจจุบันใบบัวบกจะมีราคาสูงขึ้นมาก แต่ก็เป็นราคาที่สูงขึ้นตามปัจจัยต้นทุนการเพาะปลูก ชาวสวนไม่ได้กำไรอะไรมากมาย ช้ำในกว่าตอนที่ราคาต้นทุนยังไม่พุ่งสูงขนาดนี้ด้วยซ้ำ
ด้าน นายนรินทร์ อินทวงศ์ เกษตรอำเภอไทรน้อย จ.นนทบุรี กล่าวว่า ในจังหวัดนนทบุรี อำเภอไทรน้อยถือเป็นแหล่งเพาะปลูกรายใหญ่ที่สุดจาก 6 อำเภอ ประมาณ 160 ไร่ ยอมรับว่าราคาของใบบัวบกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้ง จะปรับตัวขึ้นสูงเป็นพิเศษ เพราะผลผลิตออกน้อย ส่วนราคาช่วงนี้ก็เป็นไปตามกลไกตลาดที่ราคาน้ำมันและปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย ทางเกษตรอำเภอจึงแนะนำให้ชาวสวนผู้เพาะปลูกใบบัวบก หันไปใช้ปุ๋ยธรรมชาติหรือปุ๋ยหมักที่สามารถทำได้เอง ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่ยังมีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และประหยัดรายจ่ายต่อไป