WHA ชงรัฐเร่งเครื่อง EEC สร้างอีโคซิสเต็มปั้นสตาร์ทอัพ ดึงเงินเข้าประเทศ
พรรคสร้างอนาคตไทยชวนเอกชนถกทางออกมรสุมเศรษฐกิจ ด้าน WHA ชงรัฐเร่งผลักดัน EEC คว้าโอกาสดึงเงินลงทุนระยะยาว พร้อมสร้างอีโคซิสเต็มบ่มเพาะสตาร์ทอัพ มองหาโอกาสนิวอีโคโนมี ขณะที่เอสเอ็มอีและท่องเที่ยวแนะรัฐหนุนเงินต่อทุน วางยุทธศาสตร์ใหม่ทันโลกเปลี่ยน
วันที่ 10 ก.ค. 2565 พรรคสร้างอนาคตไทยจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “เจาะลึกวิกฤติร่วมคิดทางออก Economics wrap up and recommendation” ระดมความเห็นจากภาคเอกชนไทยเส้นเลือดใหญ่ภาคเศรษฐกิจ โดยตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และเอสเอ็มอี ชี้แนะทางออกของวิกฤติเศรษฐกิจสู่การปฏิบัติอย่างรอบด้าน ผลักดันการเมืองสร้างสรรค์ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ
นางสาวจรีพร จารุสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทางออกของภาคธุรกิจต้องมองที่ “เมกะเทรนด์” ของโลก ของภูมิภาค และของประเทศ ซึ่งสะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะไม่ได้อยู่ใน Old Economy อีกต่อไป จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้บริษัทเริ่มสนใจศึกษาเรื่องเทคโนโลยี ยิ่งตอกย้ำภาพความเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์โลกที่จะกำลังจะเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม
สำหรับโอกาสของไทยคือการใช้จุดแข็งในการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ การมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ แรงงานทักษะสูงสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก รวมถึงบริการการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ต้องเร่งผลักดันสิทธิประโยชน์ให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความน่าสนใจและน่าดึงดูดเพื่อเป็นคลัสเตอร์ฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสำคัญ โดยภาครัฐจะต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อคว้าโอกาสการลงทุนในรูปแบบอุตสาหกรรมซึ่งจะมาแบบระยะยาวและมีมูลค่าการลงทุนสูง
“เร็วๆ นี้ WHA ปิดดีลกับบริษัทยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะเข้ามาซื้อที่ในนิคมอุตสาหกรรม 600 ไร่ ยืนยันให้ไทยเป็นฐานผลิตและส่งออกรถอีวีพวงมาลัยขวาโดยจะมีมูลค่าการลงทุนที่ตามมากว่าหมื่นล้าน”
นอกจากนี้ ไทยยังควรให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่จะกำหนดทิศทางธุรกิจแห่งอนาคต โดยการสร้างอีโคซิสเต็มที่สตาร์ทอัพสามารถเติบโตและสเกลได้เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายแสงชัย ธีรกุลวานิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการราว 15 ล้านคน และแรงงานกว่า 35 ล้านคน me.shวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีและเป็นผลกระทบวงกว้างต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศ ได้แก่ รายได้ลด ต้นทุนเพิ่ม พลังงานแพง ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ เศรษฐกิจฝืด หนี้เพิ่มและจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลเกิด 3 ปัญหาหนี้ ประกอบด้วยหนี้เสีย หนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ
แม้ภาครัฐจะมีหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการบูรณาการร่วมกันเพื่อจัดสรรงบประมาณที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงคาดหวังว่าต่อไปจะเห็นภาพที่หน่วยงานรัฐมีการบูรณาการร่วมกันและการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากมรสุมลายด้านตั้งแต่ที่เกิดโควิดสงคราม วิกฤติพลังงาน และเงินเฟ้อ
โดยเน้นย้ำปัญหาสำคัญของเอสเอ็มอีเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการใช้จ่ายจากภาครัฐผ่าน SME GP ให้เอสเอ็มอีมีแต้มต่อและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2565 สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้ามา 12-16 ล้านคน ด้วยการวางยุทธศาสตร์ใหม่ โดยขอความร่วมมือกับภาครัฐเน้นความสำคัญ 3 ด้าน คือ 1. เติมเงิน อุดหนุนภาคการท่องเที่ยว 1 แสนล้านบาทผ่านกองทุนเอสเอ็มอีหรือกลไกอื่นๆ 2. เติมความรู้ การพัฒนาทักษะแรงงาน ริเริ่มด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านการท่องเที่ยว สร้างความแตกต่างให้รูปแบบการท่องเที่ยว 3. เติมลูกค้า สร้างแรงดึงดูดการท่องเที่ยวให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศเร็วขึ้น เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่กระจายสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ