‘สศช.’ แนะไทยเร่งสร้างขีดแข่งขัน พัฒนาคน – เจรจาการค้า เพิ่มแต้มต่อประเทศ
"สศช."แนะเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศรับความไม่แน่นอนศก.โลกในอนาคต แนะเร่งพัฒนาทักษะกำลังแรงงาน พร้อมเสนอเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรอบ CPTPP ที่มีความล่าช้ามาก ช่วยนักลงทุนตัดสินใจเข้าลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น
การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันถูกกำหนดเป็น 1 ในเป้าหมายของการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะเน้นการยกระดับศักยภาพประเทศในหลายมิติ แต่สถานการณ์ล่าสุดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงหลายอันดับ
ผลการจัดอันดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2565 โดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์พบอันดับการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญจากวิกฤติ โดยประเทศที่อันดับดีขึ้นส่วนใหญ่เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็กที่ปรับตัวได้เร็วต่อผลกระทบจากโควิด-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับประเทศไทยลดลง 5 อันดับจากอันดับที่ 28 ในปี 2564 มาอยู่อันดับ 33 ในปี 2565 จากการสำรวจ 63 เขตเศรษฐกิจ โดยมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัดและปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด แบ่งได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
1.ด้านเศรษฐกิจ (Economic Performance) อันดับลดลงถึง 13 อันดับ เพราะประเด็นการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจภายในประเทศ
2.ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) มีอันดับลดลง 11 อันดับจากอันดับ 20 ในปี 2564 เป็นอันดับ 31 ในปี 2565 เนื่องจากประเด็นด้านการคลัง ซึ่งลดลง 15 อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจลดลง 8 อันดับ
3.ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ลดลงจากอันดับ 21 มาอยู่อันดับ 30 โดยประเด็นด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพยังคงเป็นปัญหาหลักและมีอันดับลดลงถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 47 ในปีนี้
4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีอันดับลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 43 มาอยู่ที่อันดับ 44
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องมีการผลักดันส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องทำในระยะสั้น เนื่่องจากโลกในอนาคตมีความไม่แน่นอนและมีความท้าทายในหลายด้าน
ทั้งนี้การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นเรื่องที่ สศช.ได้บรรจุไว้ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะมีการประกาศใช้ในปีงบประมาณ 2566-2570
ส่วนที่สำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่มองว่าเป็นเรื่อง “เร่งด่วน” คือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพและทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งมีความสามารถที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยในระยะต่อไปประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราเร่ง ทำให้จำนวนแรงงานลดลง และแรงงานบางส่วนนั้นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อทดแทนจำนวนแรงงานที่ลดลง
ดังนั้นในแผนพัฒนาฯ 13 จึงกำหนดให้การพัฒนาคนเป็นเรื่องสำคัญได้กำหนดไว้ในหมุดหมายที่ 12 ของแผนพัฒนาฉบับฯที่ 13 โดยกำหนดเรื่องให้ คนไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต ซึ่งเน้นที่การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาให้คนไทยมีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับ โลกยุคใหม่
รวมไปถึงการพัฒนาทักษะในด้านความรู้ทักษะทางพฤติกรรม และคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม การเตรียมพร้อมกำลังคนที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการเตรียมคนที่เอื้อต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคการผลิตและบริการเป้าหมายที่มีศักยภาพและผลิตภาพสูงขึ้น รวมทั้งไปถึงการพัฒนาหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตของคนในประเทศด้วย
นายดนุชา กล่าวว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญอีกเรื่อง คือ “การเร่งรัดการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” รวมทั้งการเข้าสู่การเจรจาพหุภาคีกับกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการดึงดูดการค้า และการลงทุนในปัจจุบันเพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดการค้าการส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมทั้งขยายตลาดการส่งออกไปยังตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งสามารถที่จะดึงประเทศอื่นๆเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นคู่แข่งของประเทศไทยในอาเซียนอย่างเวียดนามก็มีการเข้าเป็นสมาชิก ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ "CPTPP" ทำให้มีข้อได้เปรียบในการเจรจาการค้า และเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ ในส่วนของประเทศไทยถือว่าเรื่องนี้มีความล่าช้าอยู่พอสมควร คงต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในครั้งต่อไปว่าจะมีความคืบหน้าออกมาในทิศทางใด
“การแสดงความชัดเจนในเรื่องของการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะกรอบความร่วมมือในเรื่องนี้มีหลายประเทศที่เป็นสมาชิก ตลาดมีความกว้างกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนจะพิจารณาประกอบด้วยว่าจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่เพราะมีผลต่อการขยายตัวของธุรกิจในระยะต่อไป”นายดนุชา กล่าว