สยบดราม่า! เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา "คนต่างด้าว" ถือครองที่ดินในไทยได้

สยบดราม่า! เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา "คนต่างด้าว" ถือครองที่ดินในไทยได้

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ "คนต่างด้าว" สามารถถือครองที่ดินในไทยได้ ชี้แต่หากมีกรณีพิพาทให้ขายที่ดินที่ถือครองแล้วเอาเงินกลับประเทศไป

วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่อง "คนต่างด้าว" ถือครองที่ดินในประเทศไทย ซึ่งจากการตรวจสอบคำพิพากษา "ศาลฎีกา" พบว่าคนต่างด้าวสามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้

 

 

โดย คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2744/2562 ระบุว่า "คนต่างด้าว" สามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ เพียงแต่ถ้ามีกรณีพิพาทเกิดขึ้นก็ให้คนต่างด้าวขายที่ดินที่ตนถือครอง แล้วนำเงินกลับประเทศไป สาระสำคัญระบุไว้ดังนี้

 

1. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 บัญญัติว่า "คนต่างด้าว" จะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย

 

2. ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย... ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข และวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

 

 

3. และมาตรา 94 บัญญัติว่า บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

4. แม้โจทก์ร่วมเป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินมิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 

 

5. คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับ ก. เพื่อซื้อที่ดิน จึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย 

 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์