7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล ที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG
"7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล" ซึ่งเป็นข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยต่อสาธารณชน ตามข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศเป็นแนวทางไว้อยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด
นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ
ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์
คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น
ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง
ในบทความนี้ จะพูดถึง 7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยต่อสาธารณชน ตามข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศเป็นแนวทางไว้อยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด
ตัววัดด้านธรรมาภิบาลทั้ง 7 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย
จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม (Number of board meetings and attendance rate) เป็นตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการบริษัท และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลและสมรรถนะของกลไกการกำกับดูแลกิจการ
จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง (Number and percentage of women board members) เป็นตัวเลขจำนวนกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท และร้อยละของกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายในมิติหญิงชาย
ช่วงอายุของกรรมการ (Board members by age range) เป็นข้อมูลแสดงลักษณะเฉพาะของกรรมการบริษัทจำแนกตามช่วงอายุ ความสมดุลด้านอายุในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจที่รอบด้าน
จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม (Number of meetings of audit committee and attendance rate) เป็นตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผล ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของกลไกการกำกับดูแลกิจการ
ค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ (Total compensation per board member) เป็นตัวเลขค่าตอบแทนของกรรมการในรอบการรายงาน ทั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหาร (Executive Director) และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร (Non-executive Director: NED)
ค่าปรับจ่ายหรือค้างจ่ายเพื่อระงับข้อพิพาท (Amount of fines paid or payable due to settlements) เป็นจำนวนเงินค่าปรับจ่ายหรือที่ค้างจ่าย อันเนื่องมาจากกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริต ที่ถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานกำกับดูแล และศาล ในรอบการรายงาน
ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตต่อปีต่อคน (Average hours of training on anti-corruption issues per year per employee) เป็นตัวเลขจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตที่พนักงานได้รับในรอบการรายงาน
ทั้ง 7 ตัววัดธรรมาภิบาลข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 5.5.2) และเป้าที่ 16 ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 16.5.2 เป้าหมาย SDG ที่ 16.6 และตัวชี้วัด SDG ที่ 16.7.1)
นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของ 7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org