อะเบาท์ แพสชั่นฯ เดิมพัน 3 ปี ปั้น “ซับเวย์” ขึ้น Top3-QSR
"ซับเวย์" แซนวิชดังอยู่ในไทยเกือบ 20 ปี แต่ทำรายได้เพียง 500 ล้านบาท จากฝีมือแฟรนไชส์ราว 20 ราย ทว่า พลันเปลี่ยนไม้อยู่ในมือของ "ธนากร ธนวริทธิ์" ผู้ก่อตั้งอะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป ที่ผันตัวจากอสังหาฯ มาลุยร้านอาหาร ตั้งเป้า 3 ปีขึ้น Top3-QSR ใน 10 ปีจะมี 1,000 สาขา ส่องกลยุทธ์โต
เกือบ 20 ปี เป็นระยะเวลาของ “ซับเวย์”(SUBWAY) เป็นร้านอาหารบริการด่วน(QSR) ที่มีจุดขายคือ “แซนวิช” ทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งเส้นทางธุรกิจที่ผ่านมา อาจไม่หวือหวา เติบโตรวดเร็ว เนื่องจากผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์มีจำนวนมากราว 20 ราย แบ่งเขตการดูแล 2-3 สาขาบ้าง ขึ้นกับศักยภาพรอบด้าน
ทว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการบางราย “ปิดร้าน” ขณะเดียวกัน ยังมีผู้สานต่อกิจการ เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์รายใหม่อย่าง “อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป” รับไม้ต่อเต็มรูปแบบ และเป็น “รายเดียว” ในประเทศไทยด้วย ภายใต้ระยะเวลา 10 ปี+10 ปี
พร้อมกันนี้ ยังฟอร์มทีมงาน วางแผนธุรกิจระยะยาว 10 ปี ขับเคลื่อนธุรกิจเชิงรุก โดยมี เพชรัตน์ อุทัยสาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารนานนับสิบปี โดยเฉพาะเป็นทัพผู้บริหารให้ร้าน QSR ระดับโลกมาก่อน
หากทำความรู้จัก “อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป” ก่อตั้งปี 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 210 ล้านบาท ซึ่งผู้ก่อตั้งไม่ใช่ใครแต่คือ “ธนากร ธนวริทธิ์” เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ รับบทเป็นเจ้าของแบบเงียบๆ(Silent Holder) มีการฟอร์มทีมผู้บริหารนับสิบ และซื้อแบรนด์ร้านอาหาร เช่น Wine I Love You สร้างแบรนด์ RIBZ & WINGZ และเดลี่โดสในพอร์ตโฟลิโอ
“ซับเวย์” เป็นแบรนด์เรือธง ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในพอร์ตบริษัทเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตั้งดันกรรมการบริษัทอย่าง “เพชรัตน์” เป็นซีอีโอ ขับเคลื่อนธุรกิจ
“เพชรัตน์” เผยแนวทางการทำตลาดของ “ซับเวย์” ใน 10 ปีข้างหน้า คือการเปิดร้านให้ได้ 1,000 สาขา หรือโตเกือบ 10 เท่า จากปัจจุบันมีร้าน 142 สาขา และต้องการผลักดันรายได้ให้แตะ 9,000 ล้านบาท จากปีก่อนทำเงินราว 500 ล้านบาท
แผนการเปิดสาขา "ซับเวย์" ใน 10 ปี
“วิชั่นของบริษัทคือต้องการก้าวเป็น 1 ใน 3 ของผู้นำธุรร้านอาหารบริการด่วนภายใน 3 ทั้งจำนวนสาขาและยอดขาย ช่วงเวลาดังกล่าวจะสร้างการเติบโตเป็น 2-3 เท่าตัว”
สำหรับการขยายร้าน “ซับเวย์” จะมีหลากโมเดล ทั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) คอมมูนิตี้มอลล์ การกลับไปรุกห้างค้าปลีก ฯ โดยขนาดจะเน้น 50 ตารางเมตร(ตร.ม.) การลงทุนราว 4 ล้านบาทต่อสาขา เพื่อ “สปีด” การเติบโต ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เสิร์ฟความอร่อยเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงจะสร้างร้านที่เป็นหน้าเป็นตาให้แบรนด์(Flagship)สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า และร้านไดรฟ์ทรู ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครักสะดวก มีร้านให้บริการ 24 ชั่วโมง เป็นต้น
“ร้านขนาด 50 ตร.ม. Small but beautiful และช่วยให้บริษัทคืนทุนเร็ว”
ส่วนกลยุทธ์การทำตลาด จะเห็นการสร้างแบรนด์มากขึ้นผ่านสื่อออนไลน์ เมนูอาหารมีการจัดเป็นเซ็ทให้สั่งง่าย จากปมใหญ่(Pain Point) ผู้บริโภคไม่กล้าสั่ง จะมีการรังสรรค์สิ่งใหม่ ให้ “ราคา” ต่ำลงกว่า 60 บาท เพื่อให้ลูกค้าซื้อง่าย ซื้อซ้ำ พร้อมย้ำจุดเด่นอาหารทางเลือก “สุขภาพ” เตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์เชื่อมประสบการณ์อร่อยออฟไลน์สู่ออนไลน์(O2O) ฯ ซึ่งจะเห็นในเร็วๆนี้
นอกจากนี้ จะเห็นการต่อยอดแบรนด์ “ซับเวย์” สู่ละครไทย จากแต้มต่อสำคัญซีรีย์เกาหลีใต้เรื่องดัง ล้วนมีฉากพระ-นางทานอาหารในร้าน “ซับเวย์” จำนวนจนเกิดภาพจำแก่ผู้บริโภค
ภาพคุ้นตาการ Tie-in ของ SUBWAY ในซีรีย์เกาหลี
“แบรนด์เราเคยเป็นลูกเป็ดขี้เหร่มาตลอด แต่กลยุทธ์การทำตลาด เปิดสาขาของเราไม่ทำเหมือนเดิม เพราะนั่นทำให้แบรนด์ยิ่งขี้เหร่ อีกตัวแปรคือโควิดทำให้ผู้บริโภครักตัวเอง เราจึงนำเสนอคอนเซปต์ Better for you ซึ่งเป็นความคลาสสิกไปตลอด”
สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนปี 2564 มีมูลค่าตลาด 45,000 ล้านบาท เติบโต 2.3% จากปี 2561 หากเทียบฟอร์มแบรนด์และยักษ์ใหญ่ในตลาด “ซับเวย์” จะเปิดเกมรบสู้กับ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง รวมถึง ไก่ทอดเท็กซัส ซึ่งทุกรายล้วนมี “ขุมกำลัง” พร้อมรอบด้านทั้ง “เงินทุน” และ “สาขา”
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทรานส์ฟอร์ม “ซับเวย์” ในประเทศไทยจากผู้ประกอบการรายเดิมๆ จะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจากนี้ไป “ซับเวย์” ถือเป็นหมากรบใหญ่ของ “อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป” แต่แผนขยายธุรกิจร้านอาหารจากนี้ ยังมีอีกหลายแบรนด์ “จ่อคิว” เสริมแกร่ง เนื่องจากบริษัทกำลังเจรจากับหลายแบรนด์ “ระดับโลก” ส่วนจะปิดดีลเมื่อไหร่ ต้องติดตาม เพราะทุกอย่างอยู่ในชั้น “ความลับ”