สมาคมธนาคารไทย ห่วง ลูกหนี้ 2 ล้านล้าน ตกเหวเพิ่ม
สมาคมธนาคารไทยเผยพอร์ตลูกหนี้ 1.8 ล้านราย มูลค่ากว่า 2 ล้านล้าน เสี่ยงสูงตกหน้าผาเอ็นแอล หลังเจอผลกระทบโควิดหลายระลอก แนะแบงก์ช่วยประคองลูกหนี้ ผ่านมาตรการยาวขึ้น แจงมีหนี้ที่ต้องเฝ้าระวังมีกว่า 10% ประเมิน ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยกระทบลูกหนี้เปราะบางเพิ่ม
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า พอร์ตลูกหนี้ ที่อยู่ตรงหน้าผาเอ็นพีแอล หรือ NPL Cliff ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1.8 ล้านราย หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท วันนี้ต้องยอมรับว่ามีทั้งที่แย่ลง และปรับตัวดีขึ้น ภายใต้พายุที่เข้ามาหลายระลอก
ดังนั้น การช่วยเหลือลูกหนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ อาจต้องประคองการช่วยเหลือให้ยาวนานขึ้นไปอีก และภายใต้หน้าผาเอ็นพีแอล 2 ล้านล้านบาท วันนี้ ถือว่ายังมีความเสี่ยง และความเปราะบางอยู่ เพราะหากดูข้อมูล คุณภาพหนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสที่ผ่านมา ในกลุ่มสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.93%
โดยสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) ที่ระดับ 6.09% ซึ่งตัวเลขทั้งสองกลุ่มตัวยังอยู่ระดับสูง รวมกันราว 10% ดังนั้นตัวเลขเหล่านี้ก็ต้องเฝ้าระวัง
หนี้เฝ้าระวังกว่า 10%
นายผยง กล่าวว่า หากดูลูกหนี้ใน Stage 1 หรือ ลูกหนี้ปกติบางรายอยู่ในมาตรการสีฟ้า สีส้ม และมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ของ ธปท. ที่ยังคงต้องติดตามใกล้ชิด ดังนั้นลูกหนี้กลุ่มนี้ก็อาจจะเข้ามาเป็นส่วนเพิ่มให้หนี้ที่ต้องเฝ้าระวัง เกินระดับ 10% ได้ ซึ่งสภาวะวันนี้ความเปราะบางยังมีอยู่ ขณะที่ความเปราะบาง และความเสี่ยงก็ยังคงเพิ่มขึ้น
โดยหากดูภาพหนี้เสียของระบบธนาคาร โดยรวมยังคงไหลต่อ ดังนั้นก็ต้องเร่งประคอง เพราะจะมีลูกหนี้บางส่วนที่จะกลับมาได้ แต่ก็มีลูกหนี้บางส่วนที่อาจต้อง ยืดความช่วยเหลือออกไปอีก
นายผยง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือถึงประเด็นดังกล่าวกับสมาชิกในสมาคมธนาคารไทย ในมุมต่างๆภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่มีอยู่ ซึ่งวันนี้ในมุมเครื่องมือถือว่ามีครบ
แต่มุมของการนำมาตรการไปใช้ อาจต้องใช้ต่อเนื่องขึ้น จากที่เคยคิดว่าอาจชะลอการใช้เครื่องมือออกไป ก็ต้องใช้เครื่องมือยาวนานขึ้นเช่นเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ที่อาจกดดันต่อผู้บริโภค ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ภาคธนาคารต้องเข้าไปช่วยประคองลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารยังแข็งแกร่ง แต่ยังต้องประคองลูกหนี้ให้ดี เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดสถานการณ์จากเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดอกเบี้ยมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวัง และเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างซอฟท์แลนดิ้ง แต่ในกระบวนการ ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านการดำเนินนโยบายการเงินเหล่านี้ จะเกิดการสะเทือนกับผู้ประกอบการ และภาคธนาคารพอสมควร
ขึ้นดอกเบี้ยกระทบลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง
“ต้องเข้าใจว่าบางคนประคองมาแล้วรอบหนึ่งจากโควิด-19 เขากำลังหวังว่าจะฟื้น แต่ก็เกิดพายุอีกระลอก ดังนั้นการประคองจะต้องยาวขึ้น ต้องต่อเนื่องขึ้น ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ภาคธนาคารตระหนัก และเป็นอะไรที่ต้องระมัดระวัง”
นายผยง กล่าวว่า ในระยะข้างหน้าจะมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อเข้ามาดูแลลูกหนี้กลุ่มที่มีความเปราะบางหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย เพราะภายใต้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการผ่อนคันเร่ง ก็แปลว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบกับกลุ่มลูกหนี้เปราะบางแน่นอน
“โดยระบบก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการติดตาม การชะลอการผ่อนคันเร่ง วันนี้สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้รายได้ลูกหนี้ เหมาะกับภาระหนี้ที่ต้องชำระ ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องประคอง และเฝ้าดูต่อเนื่อง”
ส่วนกรณีมีข้อเรียกร้องให้แบงก์ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที หาก ธปท.มีการขึ้นดอกเบี้ยนั้น มองว่า ระบบธนาคารก็ต้องดูเป็นระบบ ต้องดูกลไกตลาด เพราะหากระบบกลไกตลาดทำงาน การไปฝืนกลไกตลาดก็จะมีความบอบช้ำจากกลไกตลาดพอสมควร
ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดความบอบช้ำในระบบ เพราะหากไปฝืน เหมือนตอนน้ำท่วม น้ำก็หมุดมาใต้ดิน น้ำก็ท่วมอยู่ดี ดังนั้นก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่า ธปท.รับทราบประเด็นนี้อยู่
ส่วนการผ่อนปรนยาแรงที่ ธปท.เคยใช้ เช่น การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟู (FIDF) ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เหล่านี้ก็ถือเป็นต้นทุนพื้นฐานของระบบอยู่แล้ว
อุตฯ แบงก์เจอความท้าทายต่อเนื่อง
นายผยง กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารปัจจุบัน ถือว่าเป็นความท้าทายต่อเนื่อง หลังออกมาจากสถานการณ์โควิดก็เจออีกวิกฤติหนึ่ง
ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายต่อเนื่องที่ภาคธนาคารก็ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบกับลูกหนี้ของธนาคารกับกิจกรรมธนาคารเอง
ดังนั้นภาคธนาคารกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องประคองต่อเนื่อง ภายใต้พายุที่เข้ามาหลายระลอก และ ยาวนานมากขึ้น หากดูมาตรการ การช่วยเหลือลูกหนี้ จากข้อมูลของธปท.ล่าสุด ณ 11 ก.ค. พบว่า การแก้หนี้เดิม ผ่านการให้ความช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีจำนวนบัญชี ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.87 ล้านบัญชี
ซึ่งเป็นลูกหนี้ของแบงก์รัฐ 2.26 ล้านบัญชี และนอนแบงก์ กับธนาคารพาณิชย์ที่ 1.61 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.82 ล้านล้านบาท มาจากแบงก์พาณิชย์ และนอนแบงก์ 1.86 ล้านล้านบาท และแบงก์รัฐ 9.6 แสนล้านบาท
ส่วนการให้สินเชื่อใหม่ ผ่านสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการ Soft loan พบว่า มีจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือมีทั้งสิ้น 132,096 ราย คิดเป็นยอดอนุมัติสินเชื่อที่ 320,394 ล้านบาท ซึ่งหากแยกรายมาตรการ พบว่า พักทรัพย์พักหนี้ มียอดเข้าโครงการทั้งสิ้น 360 ราย รวม 49,603 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟู มีคนเข้าโครงการทั้งสิ้น 54,309 ราย รวมเป็นเงิน 182,194 ล้านบาท
ส่วนการช่วยเหลือผ่านมาตรการคลินิกแก้หนี้ ปัจจุบันมีบัญชีที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้โครงการแล้ว 84,698 บัญชี
ลูกหนี้ 25 ล้านบัญชีมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม หากดูข้อมูลลูกหนี้บนระบบข้อมูลของเครดิตบูโร ทั้งข้อมูลจากระบบธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของ ธปท. พบว่า มีทั้งหมด 79.24 ล้านบัญชี
ส่วนนี้ มีหนี้ที่ต้องเฝ้าระวังถึง 25 ล้านบัญชี ทั้งกลุ่มที่ค้างชำระตั้งแต่ 31-90 วัน พบว่า มีทั้งสิ้น 1.7 ล้านบัญชี มากที่สุดคือ สินเชื่อบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล 8.18 แสนบัญชี
ถัดมาคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 3.84 แสนบัญชี และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ เครื่องจักร 2.97 แสนบัญชี สินเชื่อบัตรเครดิตที่ 1.63 แสนบัญชี สินเชื่อบ้าน 7.1 หมื่นบัญชี
ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว มีทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบัญชี มากที่สุดคือ สินเชื่อบัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล มี 3.95 ล้านบัญชี ถัดมาคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เครื่องจักร 2.2 ล้านบัญชี และบัตรเครดิต 1 ล้านบัญชี สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6.28 แสนบัญชี ที่อยู่อาศัย 1.42 แสนบัญชี รวมไปถึงลูกหนี้ที่อาจตกชั้นจากลูกหนี้กลุ่มปกติที่มีความเสี่ยงอีกราว 15 ล้านบัญชี
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์