‘กพอ.’ปรับแหล่งเงินรันเวย์ 2 ‘อู่ตะเภา’ กู้ ‘AIIB’1.5 หมื่นล้าน แทนงบประมาณ
กพอ.ไฟเขียวปรับแหล่งเงินโครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการรวมกว่า 1.7 หมื่นล้าน หลังจากบรรจุงบประมาณแบบผูกพันงบประมาณไม่ทันในปี่ 2566 ไปเป็นการใช้เงินกู้จาก AIIB แทน ด้านAIIB อนุมัติเต็มวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้าน
โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 (รันเวย์) สนามบินอู่ตะเภา หนึ่งในโครงการที่สำคัญในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีความยาวทางวิ่ง 3,505 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ และเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่จะบินมาลงสนามบินอู่ตะเภาได้ในอนาคต
รวมทั้งเป็นโครงการที่จะช่วยสนับสนุนให้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางการบินที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 50-60 ล้านคนต่อปีโครงการนี้ ครม.อนุมัติตั้งแต่ วันที่ 30 ต.ค.2561 โดยได้รับงบประมาณในส่วนแรกเพื่อถมดินปรับพื้นที่ก่อสร้างรันเวย์ และเหลือวงเงินอีกประมาณ 1.62 หมื่นล้านบาทที่ต้องได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มเติมแต่เนื่องจากไม่สามารถจัดวงเงินเข้างบประมาณได้ทันในปีงบประมาณ2566
รัฐบาลจึงได้มีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินของโครงการจากเดิมที่ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไปเป็นการใช้แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศในวงเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้โดยไม่ล่าช้า
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อเร็วๆนี้ได้เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงแหล่งเงินโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับ (รันเวย์) ที่ 2 ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
จากเดิมที่ใช้เงินงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดโดยได้ขอผูกพันและจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณไว้ในปีงบประมาณ 2566 - 2568 ไปเป็นการใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ AIIB เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้วเสร็จ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุม กพอ.ได้พิจารณารายละเอียดของโครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกในพื้นที่อีอีซี โดยโครงการนี้มีวงเงินของโครงการรวม 17,768 ล้านบาท และผ่านความเห็นชอบของ ครม.มาตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.2561 ใยปี 2562 สำนักงบประมาณได้มีการอนุมัติงบประมาณ 1,274.24 ล้านบาท เพื่อถมดินในพื้นที่ ทำให้กรอบวงเงินของโครงการคงเหลือ 16,493.76 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2565 กองทัพเรือได้มีการขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2565 วงเงิน 16,211.4 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ต่อมากองทัพเรือ และอีอีซีได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณผูกพันปีงบประมาณให้กับกองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการระหว่างปีงบประมาณ 2566 – 2568 ในกรอบวงเงิน 1,6210.9 ล้านบาท แบ่งเป็นราคากลางของโครงการวงเงิน 15,455 ล้านบาท เงินสำรองกรณีราคาวัสดุปรับเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง 755 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในการจัดทำข้อเสนองบประมาณในโครงการนี้ยังไม่ได้มีการบรรจุเข้าสู่คำของบประมาณในปี 2566 แต่อย่างใด
ซึ่งหากจะเลื่อนออกไปบรรจุในปีงบประมาณต่อไปก็จะทำให้โครงการล่าช้าและกระทบกับการส่งมอบโครงการให้กับภาคเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่ชนะการประมูลโครงการให้กับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่ลแนล เอวิเอชั่น (UTA) ในวงเงิน 305,555 แสนล้านบาท ที่ในสัญญาระบุว่าโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)ในครงการนี้มีข้อกำหนดให้ภาครัฐมีหน้าที่รับผิดชอบรันเวย์ที่ 2 และส่งมอบให้เอกชนภายในระยะเวลาที่กำหนดจึงต้องมีการเดินหน้าการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 โดยใช้แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ
ทั้งนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)ได้มีหนังสือแจ้งความคืบหน้าของการจัดหาแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน AIIB ได้อนุมัติแนวคิดของโครงการ (Project Concept) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการนี้สามารถกู้ได้เต็มวงเงินที่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ และได้มีการเสนอโครงการนี้ให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการลงทุน (Investment Committee) และมีข้อสังเกตจาก Investment Committee เกี่ยวกับสถานะของหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการเองซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาของบอร์ดบริหาร (Exclusive Board) ของ AIIB ได้
โดยในประเด็นนี้ กพอ.ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหน่วยงานรับมอบอำนาจในการรับและใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของแหล่งกู้ ซึ่งเท่ากับว่า สกพอ.จะเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ (Implementing Agency) ในโครงการนี้
ทั้งนี้เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในส่วนนี้แล้ว ที่ประชุม กพอ.ได้มอบหมายให้ สบน.ไปแจ้งให้ AIIB ทราบเพื่อขออนุมัติเงินกู้ตามเงื่อนไขต่อไป นอกจากนี้จะต้องมีการแจ้งให้ ครม.รับทราบการเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ และหน่วยงานในการดำเนินโครงการจากกองทัพเรือ มาเป็น สกพอ.ก็ต้องมีการแจ้งให้ ครม.รับทราบด้วยเช่นกัน
ภายหลังกองทัพเรือได้ยินยอมให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และพื้นที่ในเขตเพื่อความปลอดภัยสนามบินและด้านความมั่นคง (เนื้อที่ประมาณ 1,812 ไร่) ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่
ดังนั้นในการทำโครงการนี้ตั้งแต่แรก กองทัพเรือจึงมีความเหมาะสมในการเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการสำหรับงานก่อสร้างในพื้นที่ของกองทัพเรือเอง ก่อนที่จะต้องปรับเงื่อนไขหน่วยงานการดำเนินโครงการให้เป็น สกพอ.เป็นหน่วยงาน Implementing Agency เพื่อรองรับการกู้เงินจาก AIIB