เศรษฐกิจ “เวลเนส” เมกะเทรนด์ลงทุน “อีอีซี”
ภาครัฐกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub 2560-2569 และให้การสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อเตรียมพร้อมผลักดันให้เป็น ระเบียงสุขภาพภาคตะวันออก (EWC)
ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์ 2 แห่ง ได้แก่
1.ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายสู่“Medical Valley” ซึ่งจะการก่อสร้างมีโครงการสำคัญ อาทิ สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง โรงพยาบาลดิจิทัล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
2.ศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (EECg) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและถอดรหัสพันธุกรรม สร้าง Big Data ห้องสมุดดีเอ็นเอ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
รวมทั้งภาครัฐมีการลงนามความร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมความพร้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพครบวงจร
อีกทั้งยังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่จะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพครบทุกมิติตามนโยบายของรัฐบาล ยกระดับด้านสาธารณสุข ประชาชนในท้องถิ่นเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมรับการเติบโตด้านการดูแลผู้สูงวัยทั้งในพื้นที่และชาวต่างชาติ รวมถึงเป็นฐานความร่วมมือที่สำคัญในการต่อรองของไทยในการเสริมความแข็งแกร่งความร่วมมือด้านการแพทย์กับต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่น เช่น กลุ่มท่องเที่ยวนวัตวิถี กลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอทอป และวิสาหกิจชุมชนตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การใช้จุดเด่นทางวัฒนธรรมและศิลปเอกลักษณ์ในท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกลุ่มผู้มีรายได้สูงให้เข้า EEC
ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เตรียมพัฒนา Wellness route ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ พัฒนาเมือง พัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยจะมีการพัฒนาศูนย์กลางสุขภาพ 10 สถานที่ใน EEC เช่น บางแสนบางพระ ศรีราชา พัทยา บางเสร่ พลูตาหลวง ตะพง
รวมทั้ง สกพอ.หารือ กรมธนารักษ์ ขอใช้ 3 พื้นที่ศักยภาพสูง เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รองรับWellness route ซึ่งจะมีรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ทั้งอาคารศูนย์สุขภาพและศูนย์ความงามสปา ประกอบด้วย 1.บางแสน 2.บางเสร่ 3.บางพระ
นอกจากนี้ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Wellness
อภิชาติ โมฬีชาติ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทโรงพยาบาลเอสเตลล่า เวิลด์ ฮอสพิทอล และกรรรมการกฎบัตรไทย กล่าวบรรยายในการอมรมหลักสูตร “EEC Prime” รุ่นที่ 2 จัดโดยสถาบันยูพีเอ็ม อะคาเดมี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 ว่า รายงานของสถาบันด้านสุขภาพสากล(GWI) พบว่า เศรษฐกิจเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Economy ในปี 2020 มีมูลค่าตลาดทั่วโลก4.4 ล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.9% ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาด 7 ล้านล้านดอลลาร์ใน 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวลเนส ประกอบไปด้วย 11 กลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามและชะลอวัยมีมูลค่าตลาดสูงสุด อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์, ตามด้วยกิจกรรมออกกำลังกาย 8.28 แสนล้านดอลลาร์, อาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการและลดน้ำหนัก 7 แสนล้านดอลลาร์, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 6.39 แสนล้านดอลลาร์,
การแพทย์เชิงป้องกัน การแพทย์ส่วนบุคคล และการแพทย์สาธารณสุข 5.75 แสนล้านดอลลาร์, การแพทย์แผนโบราณ 3.6 แสนล้านดอลลาร์ , อสังหาริมทรัพย์ด้านสุขภาพ 1.34 แสนล้านดอลลาร์, สปา 1.19 แสนล้านดอลลาร์, บ่อน้ำแร่และน้ำพุร้อน 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และสุขภาพในที่ทำงาน 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจสุขภาพหดตัวลง 11% แต่เชื่อว่าหลังจากนี้มูลค่าตลาดจะกลับมาขยายตัวมากขึ้น เพราะเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นหลังจากโรคระบาดใหญ่คือเทรนด์การใส่ใจด้านสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้น
รวมทั้งเศรษฐกิจเชิงสุขภาพมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นใน EEC ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ ทำให้โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเวลเนสมีขนาดที่ใหญ่กว่าอุตสาหกรรมการแพทย์ เนื่องจากลูกค้าที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่เพียงผู้ป่วย แต่รวมถึงกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยมีห่วงโซ่คุณค่าที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านอาหารเป็นยา การออกกำลังกาย แพทย์แผนไทย ความงาม การบำบัด การชะลอวัย
ขณะเดียวกันตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงาน พบว่าเทรนด์ที่น่าจับตามองของเศรษฐกิจเวลเนสในอนาคต คือ วงการอสังหาริมทรพย์ที่ตอบโจทย์สุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวที่ยังเติบโตได้ดีในช่วงโควิด ขยายตัว 22.1% เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น และเริ่มมีการศึกษาที่เชื่อมโยงของสภาพแวดล้อมที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมีผลต่อสุขภาพจิตที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี
“เทรนด์ด้านสุขภาพจึงกลายเป็นไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มนำไปเป็นจุดขายที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น โดยตลาดดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตราว 5-15% ต่อปี”