แผ่นดินไหวในเมียนมา ไม่กระทบเขื่อนไทย

แผ่นดินไหวในเมียนมา ไม่กระทบเขื่อนไทย

กรมชลประทาน ยืนยันแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา สูง 6.4 ริกเตอร์ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนในพื้นที่ภาคเหนือ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 87 กิโลเมตร เมื่อเวลา 00.07 น. ของวันที่ 22 ก.ค.65 ที่ผ่านมา วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.4 ริกเตอร์ที่ความลึก 3 กิโลเมตร นั้น

แผ่นดินไหวในเมียนมา ไม่กระทบเขื่อนไทย

แผ่นดินไหวในเมียนมา ไม่กระทบเขื่อนไทย

กรมชลประทาน โดยสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยาได้เข้าไปตรวจสอบค่าอัตราเร่งสูงสุดที่มีผลกระทบต่อเขื่อน ณ สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวของกรมชลประทาน ในเขตจังหวัดเชียงราย พบว่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้มีค่าเพียง 0.012 g ซึ่งค่าอัตราเร่งสูงสุดที่กรมชลประทานได้ออกแบบไว้ สามารถรองรับแผ่นดินไหว มีค่าไม่น้อยกว่า 0.2 g

ดังนั้นค่าอัตราในครั้งนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่

 

เขื่อนแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง

 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าที่สูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบและติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาประเมินเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนตลอดเวลา

สำหรับกรณีการระบายน้ำในเขตกรุงเทพฯนั้น นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า กรมชลประทาน ได้ประสานไปยังสำนักงานการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้อำนวยการ สำนักงานการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ว่า ไม่มีเหตุการณ์ดังที่กล่าวอ้างถึงเกิดขึ้นจริง

 

พร้อมประสานไปยังผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ที่มีประตูระบายน้ำเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์ตามที่มีการแชร์กันเกิดขึ้นแต่อย่างใดเช่นกัน ที่สำคัญประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ ที่มีการกล่าวอ้างถึง อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร

ในส่วนของกรมชลประทาน ในช่วงที่เกิดฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกครั้ง จะมีการเตรียมความพร้อมของประตูระบายน้ำและระบบชลประทาน ที่มีจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และคลองแนวตั้งต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับคลองชายทะเล ก่อนใช้สถานีสูบน้ำที่ประจำอยู่ตามคลองชายทะเล สูบน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยตามลำดับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

ทั้งนี้ กรณีที่เกิดน้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานคร กรมชลประทานและสำนักงานการระบายน้ำ ได้มีการประสานงานและทำงานร่วมกันตลอดเวลา เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด