6 ปี 4 รัฐบาล 'ไฮสปีดสามสนามบิน' ร่วมทุนรัฐ – เอกชน จ่อสร้าง เม.ย.นี้
กพอ.ปักหมุดก่อสร้าง “ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน” เม.ย.นี้ ปิดตำนานเจรจาสัญญาร่วมลงทุนยืดเยื้อ 6 ปี 4 รัฐบาล มั่นใจ “ซีพี” ยังเดินหน้าพร้อมก่อสร้าง เปิดให้บริการปี 2572
KEY
POINTS
- กพอ.ปักหมุดก่อสร้าง "ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน" เม.ย.นี้ ปิดตำนานเจรจาสัญญาร่วมลงทุนยืดเยื้อ 6 ปี 4 รัฐบาล มั่นใจ "ซีพี" ยังเดินหน้าพร้อมก่อสร้าง เล็งเปิดให้บริการปี 2572
- กำชับเงื่อนไขเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงได้ภายใน 5 ปี
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ถือหุ้นใหญ่ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 หลังชนะการประมูลและขอรับเงินร่วมลงทุนจากรัฐต่ำสุด 117,226 ล้านบาท
หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเยียวยาผลกระทบจากโควิดที่ทำให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 และทำให้บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด เข้าบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์วันที่ 25 ต.ค.2564 โดยจ่ายค่าสิทธิบริหารงวดแรก 1,067 ล้านบาท จากที่สัญญากำหนดให้จ่ายงวดเดียว 10,671 ล้านบาท
พร้อมทั้งมีการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และปัจจัยภายนอกอื่นๆ โดยมีการเจรจามายาวนานเกือบ 3 ปี และได้ข้อสรุปในรัฐบาล “แพทองธาร” หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นชอบแก้ไขสัญญา 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิมเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐจะแบ่งจ่าย 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นลักษณะสร้างไปจ่ายไป โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท.ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงได้ภายใน 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของรัฐทันทีตามงวดการจ่ายเงิน สำหรับการวางหลักประกันนั้น เอกชนยังไม่ต้องวางหลักประกันทันทีที่ลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยใช้เวลาหาหลักประกันได้แต่เมื่อต้องการเบิกรับเงินสนับสนุนต้องวางหลักประกันทันที
2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่ากัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท.ต้องรับภาระ
3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดอย่างมีนัยสําคัญ และทำให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกัน
4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท.ออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด
5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ภายหลังที่ประชุม กพอ.มีมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาร่วมทุนทั้ง 5 ประเด็นนั้น ได้มอบหมายให้ รฟท.ไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดร่างสัญญาให้รอบคอบ และมีการนำกลับมาเสนอที่ประชุม กพอ.เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมทุน
โดยขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ จะเสนอต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญาฯ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วัน ก่อนนำมาเสนอต่อบอร์ด กพอ.พิจารณาอีกครั้ง เพื่อเตรียมนำร่างสัญญาใหม่เสนอเข้าสู่ ครม. พิจารณาอนุมัติ เบื้องต้นจึงคาดว่าจะสามารถลงนามแก้ไขสัญญากับเอกชนคู่สัญญาได้ภายในไตรมาส 1 ปีนี้
ทั้งนี้ รฟท.มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ทันที คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างภายในปีนี้ และแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2572 ส่วนทางเอกชนคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ยังยืนยันความพร้อมในการลงทุนและดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ รวมไปถึงพื้นที่โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง
สำหรับภาพรวมดำเนินโครงการไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน หากนับตั้งแต่วันที่โครงการได้รับการอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 ขณะนี้เป็นระยะเวลากว่า 6 ปีที่ยังไม่มีการก่อสร้างโครงการ และผ่านการพิจารณาถึง 4 รัฐบาล โดยมีไทม์ไลน์สำคัญ ประกอบด้วย
รัฐบาลประยุทธ์ 1
27 มี.ค.2561 ครม.เห็นชอบโครงการ
12 พ.ย.2561 รฟท.เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ โดยมีเอกชนยื่น 2 กลุ่ม
22 ธ.ค.2561 ประกาศผลคัดเลือกเอกชน กลุ่มซีพีชนะการประมูล
รัฐบาลประยุทธ์ 2
24 ต.ค.2562 ลงนามสัญญา
19 ต.ค.2564 ครม.เห็นชอบแก้สัญญาเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด
25 ต.ค.2564 กลุ่มซีพีเข้าบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์
13 มิ.ย.2565 บีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุน
รัฐบาลเศรษฐา
22 ม.ค.2567 ครม.ต่อเวลาครั้งที่ 2 ส่งเอกสารออกบัตรส่งเสริมการลงทุน
22 พ.ค.2567 ครม.ต่อเวลาครั้งที่ 3 ส่งเอกสารออกบัตรส่งเสริมการลงทุน
รัฐบาลแพทองธาร
11 ต.ค.2567 กพอ. เห็นชอบแก้ไขสัญญาร่วมทุน 5 ประเด็นสำคัญ
8 ม.ค.2568 กพอ. เห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมทุน