เปิดข้อเท็จจริง “ผู้ประกอบการ” ค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล
ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่) พ.ศ. … ที่ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎวะระ 3 ซึ่งได้เพิ่ม “กากอ้อย” รวมในนิยามผลพลอยได้กำลังเป็นที่ถกเถียงในวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราบ โดยฝ่าย “ผู้ประกอบการ” ค้านหัวชนฝาจะไม่รับร่างดังกล่าว
ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลบราซิลได้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2559 โดยกล่าวหาว่าไทยให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงอุตสาหกรรมในทุกกระบวนการ อาทิ การอุดหนุนราคาขายในประเทศ รวมทั้งอุดหนุนเกษตรกรและโรงงานด้วยวิธีต่างๆ อาทิ ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติการจ่ายเงินเพิ่มให้ชาวไร่อ้อย รวมถึงการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิตที่มากกว่าที่ให้สัญญาไว้กับ WTO ทำให้ไทยสามารถส่งออกน้ำตาลไปทุ่มตลาดในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรมและส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในบราซิลต้องปิดตัวเป็นจำนวนมาก
จึงเป็นที่มาของการทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อย ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมุ่งแก้ไขข้อประเด็นที่ขัดกับข้อตกลง WTO และได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนทั้งชาวไร่ โรงงานน้ำตาลและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยในปี 2564 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เสนอโดยชาวไร่อ้อยในนามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง อีก 7 ฉบับ รวมฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็น 8 ฉบับ โดย 6 ฉบับที่ไม่ใช่ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ต่างกำหนดให้ ‘กากอ้อย’ เป็นผลพลอยได้
สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 59 คนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลอ้างว่าไม่มีผู้แทนฝ่ายโรงงานในคณะกรรมาธิการทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เพียงแต่ตั้งเป็นที่ปรึกษาจำนวน 6 คน และร่วมในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างอีก 3 คน ซึ่งไม่มีสิทธิออกเสียง
โดยที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายตามเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่เพิ่มคำ “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” แต่ในชั้นการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร กลับเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ให้เพิ่ม “กากอ้อย” ในคำนิยามดังกล่าว และเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 ตัวแทนของโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 57 โรงงาน ได้มีมติร่วมกันเพื่อออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฎิเสธไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมีข้อชี้แจงดังนี้
โรงงานทำสัญญาซื้อขายอ้อยจากชาวไร่อ้อย ตามความหวาน (น้ำตาลในอ้อย) และน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักอ้อยที่ซื้อรวมกากอ้อย (ชานอ้อย) เศษหิน ดิน ทราย และสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ที่ติดมากับอ้อยที่ส่งเข้าหีบด้วย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน “กากอ้อย” จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิมภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี2525
ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้ “กากอ้อย” รวมทั้งกากตะกอนกรอง เป็นสิ่งปฏิกูลหรือของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย โรงงานต้องจัดหาสถานที่จัดเก็บ ต้องขออนุญาตในการขนย้าย บำบัด และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
โรงงานน้ำตาลทรายชี้ว่า ตนเป็นผู้ลงทุนในการจัดการของเสียดังกล่าวโดยการพัฒนาเครื่องจักรและใช้เทคโนโลยีนำกากอ้อยมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวซึ่งรวมอยู่ในการแบ่งปันผลประโยชน์ ให้ชาวไร่อ้อย 70% และโรงงาน 30%
โดยผู้ประกอบการยืนยันว่า การกำหนดให้ “กากอ้อย” ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน เป็น “ผลพลอยได้” เพื่อนำมาแบ่งปัน จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงาน และจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยก ไม่สิ้นสุด ในการบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และประชาชนผู้บริโภคโดยรวม
สมาคมโรงงานน้ำตาล เตรียมยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและสามกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หากร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ประธานสมาคมฯ เผยว่าจะลาออกจากการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้พ.ร.บ.อ้อยฯปี 2527 ทั้งหมดที่มีอยู่ 5 คณะประกอบด้วย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.), คณะกรรมการอ้อย (กอ.), คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.), คณะกรรมการบริหาร (กบ.) และคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.)
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยืนยันว่าจะยังคงส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของชาวไร่ และให้ผู้บริโภคในประเทศมีน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการบริโภค
ขณะเดียวกันสถานการณ์ราคาน้ำตาลโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและมีราคาสูงกว่าน้ำตาลในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าราคาน้ำตาลในประเทศจะมีการปรับตัวตามต้นทุนพลังงานและปุ๋ยที่เพิ่งสูงขึ้นด้วย โดยสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะมีการพิจารณาต้นทุนภาพรวมของทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายเพื่อนำไปสู่การปรับราคาน้ำตาล ซึ่งขณะนี้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 30% รวมทั้งราคาพลังงาน