หอการค้าฯหวั่นใช้กฎหมาย PDPA นำข้อมูลกลั่นแกล้งทางธุรกิจ
หอการค้าไทย รับกฎหมาย PDPAไม่ชัดเจน หวั่นเป็นช่องโหว่ใช้กลั่นแกล้งทางธุรกิจ ขอเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านปธ.เอสเอ็มอีชี้สร้างภาระให้เอสเอ็มอีขอออกกฏหมายลำดับรองโดยเร็ว ด้านเลขาธิการกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลย้ำเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และมหาวิทยาลัยหอกาค้าไทย จัดงานสัมมนา หัวข้อ “PDPA บังคับใช้...อะไรที่ต้องพร้อม”
โดยนายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้า กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนมีความกังวลต่อกฏหมายฉบับนี้เพราะยังไม่ชัดเจนถึงแนวปฏิบัติ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายมากลั่นแกล้งทางธุรกิจ อีกทั้งในเรื่องของการลงทุนเพื่อปรับปรุงองค์กรให้ปฏิบัติตามกฏหมายซึ่งถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ดังนั้นทางภาคเอกชนมึจึงมีข้อเสนอขอให้เร่งออกกฎหมายลำดับรองให้เร็วที่สุด การฝึกอบรมให้ความรู้ ชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน ผ่อนปรนบทลงโทษ ป้องกันการใช้กฎหมายเพื่อการกลั่นแกล้งทางธุรกิจ รวมทั้งขอให้มีตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมในการทำงานของคณะอนุกรรมฯหรือคณะทำงานของPDPA และเมื่อกฏหมายบังคับใช้ไปแล้วมีข้อบกพร่องก็ควรจะมีการทบทวน 6 เดือนหรือ 1 ปี เป็นต้น
นายอุดมธิปก ไพรเกษตร เลขาธิการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีส่วนสร้างภาระต่อเอสเอ็มอีที่เป็นองค์กรขนาดเล็กต้องปรับตัวอย่างมาก ซึ่งการออกกฎหมายลูกในการนำขนาดองค์กร และรายได้มากำหนดเงื่อนไขกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ยังเป็นปัญหา เนื่องจากการทำธุรกิจมีขึ้นและลงตัวรายได้จึงยังไม่คงที่ การแบกรับภาระการลงทุนทำระบบให้สอดรับกับกฎหมายของเอสเอ็มอีให้ครบทั้งหมดยังเป็นไปได้ยาก แต่ขณะนี้สมาพันธ์ก็ได้ทำโครงการอบรมเพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการให้ปรับใช้กฎหมายมากขึ้น
นอกจากนี้ สมาพันธ์เอสเอ็มอี มีข้อเสนอแนะแก่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย 1.เร่งออกกฎหมายระดับรอง 2.จัดทำหรือสนับสนุนการจัดทำแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่เอสเอ็มอีแต่ละหมวดธุรกิจและแต่ละฟังก์ชั่นธุรกิจของเอสเอ็มอี 3.จัดทำหรือสนับสนุนการจัดทำตัวอย่างเอกสารที่เอสเอ็มอีแต่ละหมวดธุรกิจและแต่ละฟังก์ชันธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องใช้ 4.รถหย่อนภาษีสำหรับการปฎิบัติตามกฎหมายคุ้มครองของภาคธุรกิจ 5.สนับสนุนงบประมาณสำหรับการปฎิบัติตามกฎหมายให้แก่เอสเอ็มอี 6.สร้างแรงจูงใจให้กับเอสเอ็มอีปฏิบัติตามกฎหมาย 7.สร้างแรงจูงใจให้องค์กรที่มีผู้ค้าและลูกค้าจำนวนมากส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายให้แก่ลูกค้าหรือคู่ค้า 8.จัดอบรมให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 400,000 คนต่อปีให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า กฎหมาย PDPA ออกมาในปี 2542 แต่บังคับใช้ 1 มิ.ย.65 ก็เกิดกระแสความสับสนว่าสิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ ซึ่งกฎหมาย PDPA มีเป้าหมายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ได้ทำให้เกิดความกลัวในทางทำธุรกิจ ในทางตรงกันข้ามเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านธุรกิจที่จะรักษาข้อมูลของลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายลูกได้ประกาศใช้แล้ว 6 ฉบับจาก 8 ฉบับ มีแนวทางให้ดำเนินการเพื่อลดปัญหาข้อมูลหลุดรั่วจนสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง
ส่วนที่ภาคธุรกิจกังวลเกี่ยวกับบทลงโทษทางอาญาเนื่องจากมีการลงโทษโดยการจำคุกสูงสุด 1 ปี ซึ่งโทษอาญามี 2 กรณีที่ต้องรู้ 1.โทษอาญาเป็นเรื่องของข้อมูลอ่อนไหวที่ชัดเจนโดยในกฎหมายได้ระบุไว้ เช่น ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความเชื่อทางศาสนา ข้อมูลรสนิยมทางเพศ หากผู้ประกอบการธุรกิจไม่ได้นำข้อมูลไปใช้ หรือเผยแพร่จะไม่โดนโทษทางอาญา 2.การลงโทษทางอาญาไม่ใช่สำนักงานคุ้มครองฯ เป็นผู้สั่งลงโทษ แต่ศาลจะเป็นผู้พิจารณาถึงเจตนา หากไม่มีเจตนาเมื่อโดนฟ้องร้องอย่างไรก็ไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย ขณะที่โทษทางแพ่ง หากมีการละเมิดสิทธิก็อาจมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นได้ ซึ่งอยู่ภายใต้ดุลพินิจของศาล ขณะเดียวกันโทษทางปกครอง เป็นอำนาจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งโดยสำนักงานคุ้มครองข้อมูลฯ
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า ต้องย้ำว่า กฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายที่ออกตามรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ไม่นำข้อมูลไปแสวงหากำไร และทำให้เกิดความเสียหายจะมีความผิด ขณะเดียวกันภาคธุรกิจ กฎหมายไม่เปลี่ยนมิติการทำงานโดยภาคธุรกิจใดมีกฎหมายเฉพาะหรือมีหน่วยงานกำกับดูแลก็ใช้หลักเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วกำกับ อย่างไรก็ตาม กฎหมายลูกได้ออกมาเพื่อให้ปฏิบัติตาม และได้งดเว้นให้ผู้ประกอบการได้ปรับธุรกิจให้เข้ากับการใช้กฎหมายช่วงระยะ 2 ปี ซึ่งช่วงนี้จะไม่มีการดำเนินคดี แต่จะมีการแนะนำและช่วยเหลือปรับปรุงให้เข้ากับสภาพธุรกิจโดยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขอย้ำว่า กฎหมายPDPA มาเสริมภาคธุรกิจไม่ได้มาสร้างปัญหากับภาคธุรกิจ