จับชีพจรครึ่งปีหลังท่องเที่ยว "สมุย" เส้นเลือดใหญ่ "บางกอกแอร์เวย์ส"

จับชีพจรครึ่งปีหลังท่องเที่ยว "สมุย" เส้นเลือดใหญ่ "บางกอกแอร์เวย์ส"

ฐานการบิน “สมุย” คือ “เส้นเลือดใหญ่” ของรายได้สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” โดยนับตั้งแต่รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ยกเลิก Test & Go และ Thailand Pass ก้าวสู่ “การเปิดประเทศเต็มรูปแบบ” ประกอบกับเข้า “พีคซีซั่น” ของเกาะสมุยในเดือน ก.ค.-ส.ค.

ส่งผลให้นักท่องเที่ยวตบเท้าเดินทางเข้าเกาะสมุยมากยิ่งขึ้น!

อมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวม “จำนวนเที่ยวบิน” ของบางกอกแอร์เวย์ส ฟื้นตัวกลับมาแล้ว 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 หลังจากเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศครบทุกเส้นทาง แม้เรื่องความถี่ยังกลับมาไม่เต็มร้อย แต่ก็เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี โดยเฉพาะฐานการบิน “สมุย” ช่วงพีคซีซั่นตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ บางกอกแอร์เวย์สให้บริการเส้นทางบิน “สมุย-กรุงเทพฯ” เพิ่มเป็น 22-23 เที่ยวบินต่อวัน จากช่วงปกติก่อนโควิด-19 ระบาด ให้บริการ 30 เที่ยวบินต่อวัน

นอกจากให้บริการเส้นทางบินไป-กลับ สมุย-กรุงเทพฯ แล้ว ยังให้บริการเส้นทาง สมุย-ภูเก็ต, เส้นทาง สมุย-เชียงใหม่ ล่าสุดคือเส้นทาง สมุย-หาดใหญ่ เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ด้วยเครื่องบินแบบใบพัด ATR 72-600 และในปลายปีนี้จะกลับมาให้บริการเส้นทาง สมุย-กระบี่ เพื่อเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยว การค้า และจุดหมายหาดทรายชายทะเลชื่อดังในไทยให้ครบเครื่อง!

ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ จะเพิ่มความถี่เส้นทาง สมุย-สิงคโปร์ จาก 1 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 2 เที่ยวบินต่อวันในช่วงตารางบินฤดูหนาว เริ่มเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่เส้นทาง สมุย-ฮ่องกง ขึ้นอยู่กับว่าทางการฮ่องกงจะผ่อนคลายมาตรการเดินทางมากแค่ไหน

“ในบรรดาเส้นทางบินที่บางกอกแอร์เวย์สให้บริการในปัจจุบัน พบว่าเส้นทางสู่ฐานการบินสมุยมีผลการดำเนินงานดีที่สุด มีจำนวนเที่ยวบินมากที่สุด และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) มากที่สุด เฉลี่ยกว่า 80% ส่วนราคาขายตั๋วเส้นทางสู่สมุย ปัจจุบันราคาขายตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ 2,800 บาทต่อเที่ยวบิน ยังน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งราคาขายตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเที่ยวบิน”

รัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 “สมุย-พะงัน-เต่า” 3 เกาะดังใน จ.สุราษฎร์ธานี พึ่งพารายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิน 90% และเมื่อโควิด-19 ระบาดหนักเมื่อปี 2563 รายได้หลักแสนล้านบาทหายไปในเพียงเดือนเดียว!!

กระทั่งเวลาผ่านไป 2 ปีครึ่ง ปัจจุบันเกาะสมุยมีนักท่องเที่ยวฟื้นตัวราว 60-70% แล้วเมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด-19 ถือว่าดีขึ้นมากจากนโยบายการเปิดประเทศ! หลักๆ เป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เช่น เยอรมัน และอังกฤษ แต่ก็เริ่มเห็นลูกค้าจากตลาดใหม่ๆ เช่น อินเดีย และตะวันออกกลาง นิยมเดินทางมาสมุยกันมากขึ้น

“สมาคมฯคาดการณ์ว่าช่วงพีคซีซั่นของเกาะสมุย ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ จะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 60-70% บางช่วงไต่ระดับได้ถึง 80-90% จากการกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมที่พักประมาณ 60-70% ของภาวะปกติ”

ส่วนโรงแรมที่พักบนเกาะสมุยอีกราว 30-40% ซึ่งยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการนั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะเรื่อง “ต้นทุน” ผู้ประกอบการต้องการเงินทุนมา “รีสตาร์ทธุรกิจ” สมาคมฯจึงต้องการให้สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้ามาช่วยเหลือด้วยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) นอกจากนี้ยังมีต้นทุนเรื่อง “แรงงาน” ที่อยากให้ภาครัฐส่งเสริมการจ้างงานแก่ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งต้องการคนมีประสบการณ์ ช่วยจูงใจให้คนกลับมาทำงานภาคท่องเที่ยวอีกครั้ง พร้อม Upskill และ Reskill ยกระดับทักษะแก่แรงงานท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันภาครัฐควรออกมาตรการ “ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า” และ “ขยายวันพำนัก” ในประเทศไทย เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวให้อยู่นานและจับจ่ายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเทรนด์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน สนใจท่องเที่ยวและเติมเต็มประสบการณ์ ด้วยการลงเรียนคอร์สต่างๆ ในไทย เช่น เรียนดำน้ำ และเรียนมวยไทย นานเป็นเดือนๆ

ส่วนในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสมุยต้องปรับตัว มองหาลูกค้าจากตลาดใหม่ๆ ด้วยการโปรโมทท่องเที่ยวเชื่อมโยง 3 เกาะ “สมุย-พะงัน-เต่า” ต่อยอดจากสถานการณ์ปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาแล้ว เช่น เกาะพะงัน ที่งานฟูลมูนปาร์ตี้มีนักท่องเที่ยวร่วมงาน 2-3 หมื่นคน ส่วนเกาะเต่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาพำนักนานเป็นเดือนๆ รวมถึงการโปรโมทสินค้าท่องเที่ยวและกิจกรรมใหม่ๆ ผลักดันให้เกาะสมุยเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬา” (Sport Destination) ทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับกีฬาเจ็ตสกี วิ่ง และวิ่งเทรล

และในภาวะที่มีการแข่งขันระหว่าง “เดสติเนชั่น” รุนแรงมากขึ้น! ต้องรุกเจาะตลาดยุโรป และออสเตรเลีย โดยเฉพาะ “ตลาดรัสเซีย” ที่เรามองเห็นโอกาสในการกลับมาให้บริการ “เที่ยวบินตรงแบบประจำ” จากรัสเซียเข้าไทย ซึ่งทางการรัสเซียต้องการมุ่งฟื้นเที่ยวบินประจำให้กลับมาก่อนตลาดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์)