กกพ. เคาะขึ้นค่าเอฟทีเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 คนไทยจ่ายค่าไฟสูงสุด 4.72 บาท
กกพ. เคาะขึ้นค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายจริงอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากงวดปัจจุบันที่จ่ายอยู่ 4 บาทต่อหน่วย ทำลายสถิติสูงสุดอีกครั้ง
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ที่ประชุม (บอร์ด) กกพ.ได้สรุปอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นจะปรับอัตราเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่า Ft งวดปัจจุบัน (พ.ค. –ส.ค. 2565) ที่เก็บอยู่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ จะส่งผลให้ค่า Ft โดยรวมในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ที่ประชาชนจ่าย 4 บาทต่อหน่วย
แห่งข่าวกล่าวว่า สำหรับ 3 แนวทางที่ กกพ. เปิดรับฟังความเห็นค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 ระหว่างวันที่ 12-25 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา คือ
1. ค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ส่วนหนึ่ง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 56,581 ล้านบาท โดยจะคืนเงิน กฟผ. ครบ 83,010 ล้านบาทภายใน 1 ปี
2. ค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตราน้อยลงที่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ช้าลง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 69,796 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี
และ 3. ยังไม่คืนหนี้ กฟผ. 83,010 ล้านบาท โดยคิดค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ อัตราค่าเอฟทีที่ปรับขึ้นดังกล่าว เป็นการคิดตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง และยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือประชาชนด้านค่าไฟฟ้าจากรัฐบาลในรอบนี้ เพราะหากภาครัฐต้องการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชนจริง ก็จำเป็นต้องเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินเอง เพราะ กกพ. ไม่มีงบประมาณสำหรับช่วยเหลือได้
“เมื่อพิจารณาตามต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงและภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกรับภาระแทนประชาชน 83,010 ล้านบาท หากจะใช้หนี้ให้หมดภายในงวดเดือน ก.ย-ธ.ค. 2565 ค่า Ft จะต้องปรับขึ้นมาถึง 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายจริงอยู่ที่ 6.12 บาทต่อหน่วย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากนัก จึงใช้แนวทางที่ 3”
นอกจากนี้ การที่ยังไม่ชำระหนี้คืนให้กฟผ. คาดว่า สิ้นเดือนส.ค. 2565 ภาระที่กฟผ.แบกอยู่จะขึ้นมาอยู่ที่ 109,672 ล้านบาท จากเดิมถึงสิ้นเม.ย. 2565 ที่แบกรับค่าไฟแทนประชาชนที่ 83,010 ล้านบาท ซึ่งทางกฟผ.ได้ทำหนังสือมายังกกพ. เพื่อเสนอความเห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยมองว่า เพื่อลดผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้า ทางกฟผ.จะแบกรับแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน 109,672 ล้านบาท โดยจะนำไปบริหารจัดการเรียกเก็บภายในปี 2566 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. จะเป็นผู้แถลงข่าวถึงอัตราค่า Ft เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ต่อสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการเวลา 13.00 น. วันที่ 1 ส.ค. 2565