ศึกชิงรถไฟฟ้าสายสีส้มวุ่น BTS ยื่นศาลคุ้มครองประมูลรอบใหม่
ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ยื่นซอง 2 ราย “บีอีเอ็ม-ไอทีดี” ด้าน “บีทีเอส” ไม่เสนอซอง เผย ยื่นศาลปกครอง ขอคุ้มครองประมูลรอบใหม่ ขอยกเลิก TOR พร้อมยื่น DSI สอบยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกรอบที่ 2 ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาว่าการยกเลิกประมูลรอบที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดียังอยู่ในชั้นการอุทธรณ์
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) เปิดให้มีการยื่นซองประมูลวานนี้ (27 ก.ค.) โดยมีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย คือ
1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน)
2.ITD Group ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และ Incheon Transit Corporation บริษัทเดินรถจากประเทศเกาหลีใต้
ทั้งนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ไม่ได้เข้าร่วมยื่นซองประมูล
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ศึกษารายละเอียด TOR และ RFP ฉบับใหม่พบว่ากำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขแตกจากเดิม และเป็นเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดด้านคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่กีดกันการแข่งขัน ซึ่งส่งผลให้เอกชนที่เคยมีคุณสมบัติและเข้าประมูลได้ที่ผ่านมากลับไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งนี้ได้
“เป็นการกระทำที่อาจถือได้ว่ามีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้เข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดจนอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ตลอดจนขัดต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดมติคณะรัฐมนตรี และคำพิพากษาศาลปกครอง”
อีกทั้งปัจจุบันบีทีเอสได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อขอให้พิจารณาเงื่อนไขการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ เนื่องจากข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอมีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจนที่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
“เราไม่เข้าร่วมประมูลรอบนี้ เพราะเห็นแล้วว่าตั้งกติกาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในเรื่องของข้อกำหนดคุณสมบัติ เป็นกติกาที่เลือกผู้รับเหมา ซึ่งปัจจุบันเราได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว ดังนั้นขอรอดูทางศาลปกครองกลางพิจารณาก่อน”
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอทุเลาการบังคับต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาและยกเลิก TOR และ RFP ของการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ พร้อมทั้งขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามไม่ให้นำ TOR และ RFP ใหม่มาใช้ในการประมูลโครงการนี้ และกลับไปใช้ TOR และ RFP ของการประมูลโครงการครั้งเดิมเมื่อเดือน ก.ค.2563 โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็ได้ยื่นหนังสือสงวนสิทธิดำเนินการทางกฎหมายและขอคัดค้านการประมูลโครงการโดยใช้ TOR และ RFP ใหม่ต่อคณะกรรมการ รฟม. ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 บริษัทฯ ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่ รฟม.ได้ออก TOR และ RFP ในการประมูลใหม่ ซึ่งบริษัทฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติ ครม.และคำพิพากษาศาลปกครอง อันอาจถือได้ว่ามีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมการประมูลโครงการครั้งนี้ตามที่ได้ชี้แจงไปข้างต้น
รวมทั้งการกระทำดังกล่าวทำให้บริษัทฯ ต้องเสียหายและบริษัทฯ จึงต้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยว่า รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2565 และมีกำหนดการให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 27 ก.ค.2565
สำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะพิจารณาข้อเสนอและดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต่อไป โดย เบื้องต้นกำหนดเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 2565
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีวงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท และค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท
โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)