“เอสซีจีพี” เร่งแผน “อีเอสจี” ลุ้น2ดีลซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ
SCG ประกาศเดินหน้าธุรกิจควบคู่กู้วิกฤติโลกร้อน ทรัพยากรขาดแคลน และลดความเหลื่อมล้ำ โดยชูธง ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero-Go Green-Lean เหลื่อมล้ำ-ย้ำร่วมมือ” ขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกกลุ่มธุรกิจ
โดย ESG จะเป็นการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน ทุกคนในโลกให้ความสนใจมากขึ้น นักลงทุนภาคสถาบันการเงืน ภาครัฐ ทุกประเทศ รวมทั้งสอดคล้อง กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติและโมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนของรัฐ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญที่ต้องมีการวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology)
วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า บริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG หรือ Environment, Social, และ Governance โดยบริษัทฯ มีแผนก้าวไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ด้วยการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการพัฒนานวัตกรรมสินค้า บริการและโซลูชันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
รวมถึงขยายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน ESG ล่าสุด SCGP ได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง บริษัท คาโอ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Kao ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของ 2 บริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค
นอกจากนี้ล่าสุดบริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Packaging Materials Recycling Business) ใน Peute Recycling B.V. (Peute หรือ เพอเธ่) และการลงทุนใน Imprint Energy Inc. (Imprint) ประเทศสหรัฐที่ผลิตแบตเตอรี่ด้วยการพิมพ์ (Printed Battery) โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 105 ล้านบาท และทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 3.3%
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาขยายสู่ภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะได้ด้วย
ส่วนผลดำเนินงานของบริษัทฯ ได้ปรับเป้ารายได้ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 ล้านบาท จากเดิมวางเป้าหมายไว้ 140,000 ล้านบาท จากภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งกระดาษและบรรจุภัณฑ์อาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองที่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่าย พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่น และการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเหล่านี้หนุนดีมานด์ความต้องการสินเชื่อให้เพิ่มขึ้น
ประกอบกับราคาสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญทำให้ยอดขายบริษัทเติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ดังนั้นคาดว่า ยอดขายโดยรวมครึ่งปีหลังจะเห็นการเติบโตต่อเนื่อง หากเทียบกับครึ่งปีแรก ที่มีรายได้จากการขาย 74,616 ล้านบาท
“คาดว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังจะเติบโตต่อเนื่อง จากครึ่งปีแรก จากการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวที่กลับมาดี ทั้งในและต่างประเทศ เหล่านี้ทำให้ดีมานด์ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น แม้เงินเฟ้อในประเทศจะสูงขึ้นแต่ไม่กระทบบริษัท เพราะสินค้าบรรจุภัณฑ์ต่างๆเป็นสินค้าจำเป็น ดังนั้นคาดว่าแรงซื้อยังเพิ่มต่อเนื่อง แต่ประชาชนจะไปลดส่วนอื่นๆที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นหลัก ดังนั้นบริษัทไม่ได้รับผลกระทบส่วนนี้”
อย่างไรก็ตามล่าสุดบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาต่อยอดธุรกิจ โดยผ่านการทำดีลซื้อกิจการ การต่อยอดการเติบโตร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) จำนวน 2 ดีล ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งลุ้นว่าดีลจะจบได้ภายในปี 2565
“สำหรับงบลงทุนที่เหลือในครึ่งปีหลังมีอีกเกือบ 4 พันล้านบาท จาก 2 หมื่นล้านบาท ที่วางงบไว้ เพื่อต่อยอดการลงทุนการซื้อกิจการ แต่หากมีดีลที่น่าสนใจ เราก็ไม่ปิดโอกาส ยังสามารถลงทุนเพิ่มเติมได้อีก จากเบื้องต้น”
ส่วนผลของเงินบาทที่อ่อนค่า ถือว่ามีผลบวกกับบริษัทให้ มีส่วนบันทึกกำไรเข้ามาเพิ่มจากเงินบาทอ่อนค่า แต่อย่างไรก็ตามระยะข้างหน้า บริษัทมีแผนบริหารจัดการด้านเงินบาท จากการผันผวนของเงินบาท เพื่อไม่ให้บริษัทรับผลกระทบในระยะข้างหน้า
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ในด้านรายได้ช่วงครึ่งปีแรก เติบโตได้ 31% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการรวมผลดำเนินงานของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab รวมถึงปริมาณความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้น มี EBITDA เท่ากับ10,365 ล้านบาท ลดลง 4% จากปีกอ่น
สอดคล้องกับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ โดยมีรายได้จากการขาย 37,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%
ทั้งนี้ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2565 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 24 ส.ค.2565 กำหนด XD ในวันที่ 8 ส.ค.2565 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 9 ส.ค.2565