เงินบาทวันนี้เปิด’แข็งค่า’ที่ 36.30บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทวันนี้เปิด’แข็งค่า’ที่ 36.30บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้แนวโน้มเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หนุนต่างชาติกลับเข้าซื้อหุ้นไทย แต่ต้องระวังเงินบาทผันผวนและกลับมาอ่อนค่าได้ หากทางการจีนใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ อีกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้36.20-36.40บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 ส.ค.) ที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.83 บาทต่อดอลลาร์ (ณ สิ้นวันที่ 27 ก.ค.) มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.00-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.40 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากตลาดเปิดรับความเสี่ยง ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อหุ้นไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นต่างชาติอาจเข้ามาเก็งกำไรฝั่งเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น (Long THB) หลังเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับในช่วงวันหยุดของไทย ทั้งนี้ ยังคงต้องระวังโอกาสที่เงินบาทจะผันผวนสูงขึ้นและกลับมาอ่อนค่าได้ หากทางการจีนใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราคงมองว่า ขาขึ้นของเงินดอลลาร์นั้นจบแล้ว และหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงยิ่งขึ้นก็จะยิ่งลดโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยง หากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการหรือกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงถดถอยมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ได้หนุนให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น และกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง

 

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ข้อมูลตลาดแรงงาน และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ส่วนในฝั่งไทย รายงานเงินเฟ้อ CPI จะเป็นปัจจัยที่ควรจับตาใกล้ชิด

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดมองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ จะส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงยิ่งขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMI) เดือนกรกฎาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 52 จุด และ 53.7 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) โดยมีปัจจัยกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ได้กดดันให้ตลาดอสังหาฯ และการใช้จ่ายของผู้คนชะลอตัวลงมากขึ้นอย่างไรก็ดี ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจยังสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ตึงตัวและแข็งแกร่งอยู่ โดยยอดเปิดรับงานใหม่ (Job Openings) ยังสูงราว 11 ล้านตำแหน่ง และมากกว่าจำนวนผู้ว่างงานเกือบ 1.9 เท่า ส่วนยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกรกฎาคม อาจเพิ่มขึ้น 2.5 แสนราย และยังไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อย่างที่ตลาดกังวล ทั้งนี้ เรามองว่า ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯแม้จะยังแข็งแกร่ง แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้เราประเมินว่า หากเงินเฟ้อรวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมาก เฟดก็ไม่ได้จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเราคาดว่า ตลาดพร้อมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนโดยรวมออกมาดีกว่าคาด และที่สำคัญ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Loretta Mester และJames Bullard หลังเฟดได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์ก่อน

 

ฝั่งยุโรป – ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในรอบกว่า 40 ปี (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 9.4%) ตลาดคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.75% และมีโอกาสที่ BOE จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึงระดับ 2.50% ภายในสิ้นปีนี้ หรือ มากกว่านั้น หากเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวลงหนักหรือเข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างที่ BOE เคยออกมาเตือนในเดือนมิถุนายน

 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีน โดยเฉพาะในส่วนบริษัทขนาดเล็กและกลางอาจชะลอตัวลงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ และการชะลอตัวของภาคการผลิตในฝั่งเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดย Caixin เดือนกรกฎาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 50.7 จุด ส่วนภาคการบริการก็อาจได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มนำไปสู่มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้นในบางพื้นที่ ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการ โดย Caixin (เน้นบริษัทขนาดเล็กและกลาง) จะลดลงสู่ระดับ 53.5 จุด ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.85% เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ เช่นเดียวกันกับ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.40% เช่นกัน หลังอินเดียยังคงเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูง

 

ฝั่งไทย – ตลาดมองว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในเดือนกรกฎาคม สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ระดับ 50.9 จุด สอดคล้องกับข้อมูลการส่งออกในสัปดาห์ก่อนที่ขยายตัวได้ดี ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 50.9 จุด ตามอานิสงส์การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบริการ ทั้งนี้ เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนกรกฎาคม อาจอยู่ที่ระดับ 7.7% (ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า -0.05%) เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง จะช่วยลดผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งขึ้นสูงไปมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยมากขึ้นและอาจรอจังหวะเข้ามาซื้อบอนด์ระยะกลางถึงยาวเพิ่มเติมได้