'อรรถวิชช์' แนะยกเครื่อบระบบราชการไทยรับมือวิกฤต สร้างโอกาสศก.ประเทศ
“อรรถวิชช์” ชี้ทางรอดเศรษฐกิจไทยปฎิรูปราชการรับมือวิกฤต ให้เห็นเอกชนเป็นหุ้นส่วนมากกว่าจ้องจับผิด ชี้ระบบการเงิน การคลังแบบเดิมใช้งานไม่ได้ แนะออกกฎหมายดันนโยบายสำคัญท่องเที่ยวสุขภาพ รถยนต์EV
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าว ในหัวข้อเศรษฐกิจไทยจะก้าวผ่านอย่างไร? ในงานสัมมนา Thailand Survival ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก จัดโดย เครือเนชั่น นำโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และเนชั่นทีวี ช่อง 22 วานนี้ (1 ส.ค.) ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันเกิดจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปฉับพลัน การเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมและรวดเร็วทำให้เครื่องมือทางการเงิน การคลังแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกแล้วและวิธีคิดแบบ 30 กว่าปีที่แล้วก็อาจใช้ไม่ได้อีกแล้วเช่นกัน
วิกฤตโควิดที่ผ่านมาทำให้เราต้องเปลี่ยนเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี และขยายเพดานหนี้กึ่งการคลังเป็น 35% ของสัดส่วนหนี้ภาครัฐเพื่อให้สามารถกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)เพิ่มเติมมาทำโครงการด้านการประกันราคาสินค้าเกษตรได้ซึ่งระยะต่อไปหนี้สินที่เพิ่มขึ้น และภาระการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทำให้ไม่สามารถที่จะทำแบบเดิมได้อีก โลกเสรีทางการเงินทำให้ต้องเปลี่ยนกรอบคิดใหม่ เช่นประเทศไทยจะสามารถกำหนดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ได้เองหรือไม่
โดยที่ไม่ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลาง ภาครัฐกับสถาบันการเงินต้องมคุยกัน โดยเรื่องนี้ภาคเอกชนจะมาคุยด้วยก็ด้วยการที่รัฐบาลช่วยแก้ไขกฎหมายที่เอื้อการทำงานให้ง่ายขึ้น ขั้นตอนทางกฎหมายที่ภาคเอกชนติดขัดไปแก้ไขให้เร็วขึ้น
ที่สำคัญประเทศไทยต้องมีระบบราชการที่สามารถรับมือกับภาวะวิกฤตได้ ช่วยเหลือ สนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนให้สามารถทำงานได้ และดำเนินชีวิตต่อไปได้แม้จะเกิดภาวะวิกฤต
“ระบบราชการของไทยต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับวิกฤต ต่อจากนี้ต้องมองเอกชนเป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่การกำกับ ตรวจสอบ แต่ต้องเป็นการสนับสนุน พฤติกรรมของท่านต้องไม่ใช่ทำแบบตำรวจแต่ต้องเป็นโค้ช เรื่องนี้เป็นอำนาจเต็มของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลนี้ไม่กล้าทำก็รอรัฐบาลหน้าที่จะเข้ามาทำเรื่องนี้เพื่อให้ประเทศเดินได้”
นอกจากนี้ในเรื่องของการแก้ปัญหาข้อจำกัดของประเทศไทยหลายอย่าง ต้องเอาแนวคิดเรื่องของการทำกฎหมายเฉพาะเรื่องเพื่อให้เรื่องนั้นเดินได้เหมือนกับการเอาไม้ลูกชิ้นมาเสียบเป็นเรื่องๆร้อยเข้าด้วยกัน เช่น เรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์มของประเทศเรื่อง Wellness Tourism ที่คนต้องการมาผ่าตัด แต่คนไทยไม่ได้ประโยชน์เรื่องโฮมสเตย์ที่เขาจะมาพักฟื้น เรื่องรถไฟฟ้า (EV) รถเมล์EV จะมาหรือไม่
เรื่องจุดชาร์จ EV จะแก้ปัญหาอย่างไร กรมสรรพสามิตจะใช้วิธีคืนภาษีรถไฟฟ้าเหมือนเดิมหรือไม่ โรงงานที่ย่อยรถยนต์ในประเทศไทยที่มีน้อยจะพอกับการย่อยสลายรถเก่าหรือไม่ รวมทั้งเรื่องสหกรณ์การเกษตรในไทยต้องใช้วิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆให้สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต