ก้าวไกลจี้ กสทช. เบรกควบรวมดีล ทรู-ดีแทค

ก้าวไกลจี้ กสทช. เบรกควบรวมดีล ทรู-ดีแทค

"ขอเรียกร้องให้ กสทช. ใช้อำนาจที่มีอยู่ ทำตามความเห็นของอนุกรรมการของ กสทช. ทั้ง 4 คณะ ในการยับยั้งการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC ที่จะเพิ่มค่าครองชีพของประชาชน"

 หัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุ การควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC นั้น ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณาการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งในการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ TRUE-DTAC เกิน 50% ของส่วนแบ่งตลาด

            ในเรื่องนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยเอาไว้ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาแล้วว่า กสทช. มีอำนาจเต็มในการระงับการควบรวมธุรกิจหากการควบรวมธุรกิจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ ผูกขาดธุรกิจดิจิทัล ต่อไปเอกชนก็จะไม่ต้องแข่งขัน ไม่เกิดนวัตกรรม ไม่เกิดการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพราะสามารถที่จะทำกำไรได้จากการผูกขาด เป็นการทำกำไรบนความลำบากของประชาชน

    สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับค่าครองชีพของประชาชน อนุกรรมการศึกษากรณีการรวม TRUE และ DTAC ด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่าจากการใช้แบบจำลอง Upward Pricing Pressure Model เพื่อศึกษาการควบรวม TRUE-DTAC พบว่าจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น 12-40% ในกรณีที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมความลำบากของประชาชนในยุคที่ ของแพง-ค่าแรงถูก อยู่แล้ว ในช่วงเวลาเช่นนี้รัฐบาลต้องใช้ทุกมาตรการเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้นายทุนผูกขาดมือถือแล้วเอามือล้วงไปในกระเป๋าของประชาชน

            พิธา ยังระบุว่า จากผลการศึกษาและวิเคราะห์ของอนุกรรมการของ กสทช. เองทั้ง 4 ชุด ก็ไม่มีอนุกรรมการชุดไหนเห็นด้วยกับการควบรวม โดยอนุกรรมการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง มีความเห็นว่า กสทช. ไม่ควรอนุญาตให้มีการควบรวม ทรู-ดีแทค เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาด

            อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ มีความเห็นว่าผูกขาด กสทช. ไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม ส่วนอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี บอกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีสามารถทำได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องควบรวมกิจการ ขณะที่อนุกรรมการด้านกฎหมาย ถึงไม่ได้ให้ความเห็นเรื่องการผูกขาด แต่บอกว่า กสทช. มีอำนาจเต็มที่จะยับยั้งการควบรวมครั้งนี้