เจาะลึก 4 กลุ่มธุรกิจ ที่จะเติบโตไปพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติจีนฉบับที่ 14
พาไปเจาะลึกกับ 4 กลุ่มธุรกิจ ที่จะเติบโตไปพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติจีน ฉบับที่ 14 ซึ่งจะให้น้ำหนักไปที่ 8 ด้าน ใน 4 กลุ่มธุรกิจ จะมีกลุ่มธุรกิจอะไรบ้างนั้น ติดตามได้จากบทความนี้
ในช่วง 70 ปี ที่ผ่านมานั้น ประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะในด้านความเป็นอยู่ของประชาชนและด้านเทคโนโลยี ซึ่งนั่นก็มาจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกุมอำนาจการปกครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ และได้ใช้กลยุทธ์สำคัญที่เรียกว่า "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมช่วงระยะเวลา 5 ปี" หรือ "ยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี" เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยแผนนี้จะมีการทบทวนทุกๆ 5 ปี ซึ่งแต่ละครั้งก็จะมีการมุ่งเน้นในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน
ในปัจจุบันแผนยุทธศาสตร์ชาติจีน ก้าวเข้ามาสู่ฉบับที่ 14 แล้ว (ปี 2021-2025) ซึ่งในครั้งนี้รัฐบาลให้น้ำหนักไปที่ 8 ด้าน ตามแผนภาพประกอบที่ 1 โดยหากศึกษาอย่างละเอียด ก็จะพอจำแนกได้ว่ามีอยู่ 4 กลุ่มธุรกิจ ที่น่าจะได้ประโยชน์อย่างมากจากแผนฉบับที่ 14 นั่นก็คือ 1.กลุ่ม Consumer Brand 2.กลุ่ม Biotechnology 3.กลุ่ม Clean Energy และ 4.กลุ่ม Semiconductor
แผนภาพที่ 1 แสดงรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์ชาติจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) และกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้ประโยชน์
ที่มา: Globaltimes page 202103/1217749.shtml & TISCOASSET
การเพิ่มขึ้นของสังคมเมือง และแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ชาวจีน หนุนสินค้า กลุ่ม Consumer Brand ให้ขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะ สินค้า Premium แบรนด์
การที่รัฐบาลจีนผลักดันในเรื่องการเพิ่มขึ้นประชากรในสังคมเมือง (Urbanization Rate) ถือว่าเชื่อมโยงโดยตรงกับฐานะทางการเงินของชาวจีน จากการที่สังคมเมืองมีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีงานทำและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น หนุนการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่มักจะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2030E McKinsey คาดว่าประชากรจีนจะร่ำรวยขึ้น และกว่า 56% ของครอบครัวในสังคมเมืองจะมีรายได้ 160,000–345,000 RMB ต่อปี (หรือราว 850,000–1,820,000 บาทต่อปี) ซึ่งนั่นจะทำให้สินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่เป็น Premium แบรนด์ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามไปด้วย
สุราเกรด Premium จะได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้ นักวิเคราะห์คาดว่ามูลค่าตลาดของ "เหล้าขาว เกรด Premium" ในจีน มีโอกาสเติบโตเฉลี่ยปีละ +16% ตั้งแต่ปี 2021-2025 ซึ่งตลาดเหล้าขาวในจีนนั้นถือเป็นตลาดหลักของตลาดสุราในจีน
ทั้งนี้ ยังมีผลงานวิจัยบ่งชี้ว่าคนจีนมักจะซื้อเหล้าขาวโดยพิจารณาจาก Brand เป็นหลัก ซึ่งในประเทศจีนจะมีแบรนด์ดังอย่าง Moutai และ Wuliangye Yibin ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ดังนั้น หากชาวจีนมีฐานะดีขึ้น ก็เป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนมาดื่มเหล้าขาวแบรนด์ Premium เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์ดังก็น่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับเศรษฐีหน้าใหม่
แผนภาพที่ 2 แสดงการคาดการณ์มูลค่าตลาดเหล้าขาวในจีน และเหตุผลในการตัดสินใจซื้อเหล้าขาว
ที่มา: Qianzhan, daxue consulting analysis, size of the Chinese alcohol market, Forward-The Economist "10 pictures show you the development and current situation of Baijiu industry, Moutai has the biggest market share", Mira Asset Securities Research 2021 & Sohu, 2018 Baijiu market development, Mckinsey
สิทธิบัตรด้าน Biotechlogy ในจีน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดแซงหน้าสหรัฐฯ โดยขนาด market cap. ของ บริษัท Biotech จีน เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนุนจากภาครัฐและเอกชน
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) รวมถึงการที่รัฐบาลจีนได้บรรจุเป้าหมายที่จะเพิ่มอายุเฉลี่ยของประชากรจีนให้เพิ่มขึ้น 1 ปี ในแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่ 14 ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมด้าน Health Care ได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น หรือความต้องการยารักษาโรคเฉพาะทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
กลุ่ม Biotechnology นั้น โดยมากจะเป็นบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ เพื่อมาตอบรับความต้องการในการรักษาโรคที่รักษายากๆ อย่างเช่น มะเร็ง หรือโรคทางพันธุกรรม ซึ่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศจีนมีการพัฒนาด้านนี้อย่างมาก สะท้อนจากจำนวนสิทธิบัตรด้าน Biotech ที่ปรับเพิ่มขึ้นแซงหน้าสหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อย
อีกทั้ง ในปี 2020 รัฐบาลปักกิ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านการกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนยา ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น พร้อมกับมีการเร่งกระบวนการอนุมัติตัวยาให้เร็วขึ้น และยังได้ผสมผสานนโยบายการอนุมัติตัวยาให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกับระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะสะท้อนไปยังขนาดมูลค่าตลาดของบริษัท Biotech จีน จะเห็นได้จากมูลค่าตลาดของกลุ่ม Biotech ในปี 2019 ที่มีขนาดไม่ถึง $100 billion แต่ในปี 2021 ขยายตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงระดับ $400 billion หรือเพิ่มขึ้นถึง 300% นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่ารัฐบาลกำลังสนับสนุนธุรกิจกลุ่มนี้
แผนภาพที่ 3 แสดงจำนวนสิทธิบัตรด้าน Biotech ในจีนเทียบกับสหรัฐฯ และมูลค่าตลาดของบริษัทด้าน Biotech ในจีน
รัฐบาลจีนมีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องการควบคุมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น หนุนกลุ่มธุรกิจ Clean Energy
ปกติแล้วในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของจีน จะมีการตั้งเป้าหมายในด้านการเติบโตของ GDP ทุกครั้ง แต่ในฉบับที่ 14 จะเห็นได้ชัดว่าไม่ได้เน้นในเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่จะมีการตั้งเป้าหมายในด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จากภาพที่ 1.4 จะเห็นว่ามีการตั้งเป้าลดการใช้พลังงานและการลดการปล่อยก๊าซค์บอนไดออกไซด์โดยกำหนดเป็นตัวเลขที่ชัดเจน สะท้อนว่ารัฐบาลจริงจังอย่างมากกับเรื่องนี้
ดังนั้น กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่คงหนีไม่พ้นกลุ่ม Clean Energy ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ จนกระทั่งธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2060 มีการคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานสะอาดจะมีสัดส่วนเกินกว่า 70% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของจีน ถือว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนระยะยาวแก่กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดในระยะข้างหน้า
แผนภาพที่ 4 แสดงแผนยุทธศาสตร์ชาติจีนฉบับที่ 14 ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และการคาดการณ์สัดส่วนการใช้พลังงานแต่ละประเภทของประเทศจีน
ที่มา : Covington
จีนมีแนวโน้มผลิต Semiconductor เพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์คาดจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิต Chip ของโลกภายในปี 2030
Semiconductor หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า "Chip" เปรียบเสมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่เป็นองค์ประกอบเริ่มต้นของอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น Smartphone จอแสดงผล หรือรถยนต์ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ผู้คนเข้าถึง Internet และ Smartphone เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด Chip จึงมีบทบาทสำคัญ และเป็นอุตสากรรมที่ประเทศผู้นำอย่างจีนต้องการจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในด้านการผลิต ปัจจุบัน จีนมีกำลังการผลิต Chip เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงไต้หวัน และเกาหลีใต้
ในปี 2014 รัฐบาลจีนได้ประกาศแนวปฏิบัติในการส่งเสริมวงจรรวมแห่งชาติ (National IC Promotion Guidelines) เป็นครั้งแรก ต่อมาในปี 2015 รัฐบาลจีนยังได้ประกาศนโยบาย Made in China 2025 โดยบรรจุให้ Semiconductor เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนา และมุ่งเป้าที่จะพึ่งพา Semiconductor ที่ตนเองผลิตขึ้นเองคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของความต้องการโดยรวมของจีนภายในปี 2025
อีกทั้ง ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมวงจรรวมแห่งชาติ (National Integrated Circuits Industry Development Investment Fund) หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของ "Big Fund" มูลค่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สะท้อนถึงความต้องการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในด้านนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิต Chip ของโลก แซงหน้าไต้หวัน และเกาหลีใต้
แผนภาพที่ 5 องค์ประกอบของ Big Fund ที่เน้นสนับสนุนธุรกิจ Semiconductor และคาดการณ์กำลังการผลิต Chip ของแต่ละประเทศผู้นำทั่วโลก
ที่มา: Bloomberg, TISCO Economic Strategy units (ESU)
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า 4 หมวดธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.Consumer Brand 2.Biotechnology 3.Clean Energy 4.Semiconductor น่าจะเป็นธุรกิจได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ชาติจีนฉบับที่ 14 มากที่สุด และหากเปรียบเทียบกับสถิติจากในอดีตจะเห็นได้ว่า ราคาหุ้นของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติจีนหลายฉบับที่ผ่านมา ต่างก็ปรับขึ้นทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวมเสมอ ดังนั้น การลงทุนในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะกลาง-ยาว รวมถึงจะช่วยลดความเสี่ยงด้านนโยบายจากทางภาครัฐได้อีกด้วย
แผนภาพที่ 6 ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาดัชนีหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ชาติจีนฉบับที่ 11-13 กับดัชนี CSI 300
ที่มา : Bloomberg
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมา และพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสม และรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยง และเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 -2633-6000 กด 4, 0-2080-6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds