‘ชโยทิต’ ดัน‘Better & Green Thailand’ อัพGDP 1.7 ล้านล้าน ดึงลงทุน 2 ล้านล้าน

‘ชโยทิต’ ดัน‘Better & Green Thailand’  อัพGDP 1.7 ล้านล้าน ดึงลงทุน 2 ล้านล้าน

'ชโยทิต' กางแผน Better and Green Thailand 2030 8 แผนงาน ดึงเอกชนลงทุน ร่วมมือต่างประเทศ สร้างความได้เปรียบไทยเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เผย 2 - 3 เดือนมีข่าวดีค่ายรถตัดสินใจลงทุน EV เพิ่ม ยักษดิจิทัลเตรียมลงทุนดาต้าเซนเตอร์ เผยญี่ปุ่น - ซาอุฯสนลงทุนไฮโดรเจรในไทย

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าหลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีการทำงานมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ล่าสุดได้มีการวางแผนงานการทำงานในด้านต่างๆ 8 ด้าน ภายใต้ชื่อ “Better and Green Thailand 2030” มีเป้าหมายในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น1.7ล้านล้านบาท

เพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนไม่น้อยกว่า2ล้านล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ6.25แสนราย คิดเป็นปริมาณรวมที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้กว่า13%

โดยขณะนี้แผนงานทุกอย่างกำลังดำเนินการไปตามขั้นตอนและอยู่ในช่วงที่มีความคืบหน้าอย่างสำคัญ โดยในส่วนแรกเป็นแผนเรื่องการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV)ในประเทศไทย โดยในแผนนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบที่ชัดเจนในเรื่องของดีมานต์ภายในประเทศ ซึ่งจำนวความต้องการของรถ EVในประเทศเป็นตำตอบที่สำคัญให้ค่ายรถยนต์ต่างๆจะไม่ย้ายฐานการผลิต และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV เพื่อป้อนตลาดในไทยและอาเซียน ขณะนี้ประเทศไทยมีรถอยู่ 30 ล้านคันที่เป็นรถน้ำมัน เราต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการเปลี่ยนจากรถน้ำมันเป็นรถ EV

ส่วนประเทศคู่แข่งในอาเซียนอย่างอินโดนิเซียนั้นยอดขายรถ EV นั้นยังทำได้น้อยมาก ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 300 คัน ขณะที่ประเทศไทยนั้นยอดจองของเราในปีนี้เป็นรถ EV ถึง 10% ของรถที่ขายได้ทั้งหมด ตรงนี้บอกชัดเจนว่านโยบายเรื่องนี้เรามาถูกทาง ประกอบกับที่ตั้งของไทยนั้นอยู่กึ่งกลางของอาเซียนก็เหมาะที่จะลงทุนในไทยเพื่อให้เป็นฐานในการผลิต EV เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆต่อไป

 

แผนงานต่อมาคือเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม EV โดยหากไทยสามารถเป็นฮับการผลิตรถ EV ของอาเซียนได้ และคงความเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่อันดับ 10 ของโลกไว้ได้ ในแง่ของอิเล็กทรอกนิกส์ ก็มีหลายบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาคุยกับเราว่าอยากจะเข้ามาผลิตชิพผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยก็คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็วๆนี้ และไม่ใช่ฝันที่เป็นความจริง ซึ่งการดึงดูดการลงทุนในเรื่องของสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์เราคุยอยู่ทั้งไต้หวัน เกาลีใต้ และสหรัฐฯ เพื่อเชิญชวนมาลงทุนในไทย

สำหรับเรื่องของการดึงดูดชาวต่างชาติที่เป็นนโยบายที่เดินหน้ามาโดยตลอด และมีการออกมาตรการวีซ่าระยะยาว (LTR) ก็มีความคืบหน้าและมีความพร้อมมากขึ้น โดยในเดือน ก.ย.นี้ก็จะเปิดให้มีการรับสมัครขอวีซ่า LTR เพื่อเข้ามพำนักในประเทศไทยตามเงื่อนไขที่มีอยู่

‘ชโยทิต’ ดัน‘Better & Green Thailand’  อัพGDP 1.7 ล้านล้าน ดึงลงทุน 2 ล้านล้าน

“เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับประเทศทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำเพราะทำแล้ว สมัยก่อนเรื่องต่างๆพวกนี้อยู่ในกล่อง วาดไว้สวยหรูแต่เป็นกล่องเปล่า แต่ไม่มีมาตการที่ทำได้จริงๆและให้ผู้ประกอบการต่างชาติเขาตื่นเต้นที่จะย้ายฐานการผลิต หรือมาตั้งฐานการผลิตใหม่ในไทย แต่วันนี้เรามีมาตรการต่างๆชัดเจน

โดยมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดทำให้มาตรการที่ออกมาได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคเอกชน ในระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา เราไม่ได้พูดอะไรมากเพราะเราอยากให้ผลงานเป็นตัวพูดออกไปมากกว่า เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีคนพูดเยอะแต่ก็ได้แต่กล่องเปล่าๆวันนี้งานของทีมปฎิบัติการเชิงรุกคือไปเติมกล่องเปล่าพวกนี้ให้เกิดขึ้น เป็นการเติมให้เต็ม”ม.ล.ชโยทิตกล่าว 

สำหรับมาตรการการส่งเสริมเรื่องของอุตสาหกรรมดิจิทัล ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ก็ต้องมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนของ Data Center ขนาดใหญ่ในประเทศ โดยอีกไม่นานเกินรอเราจะสามารถประกาศนโยบายนี้ว่าเราเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียนได้เพราะกำลังจะมีเอกชนรายใหญ่ถึง 2 รายเข้ามาลงทุนเรื่องดิจิทัลฮับ และดาต้าเซนเตอร์ในไทยโดยจะประกาศการลงทุนภายใน 1 – 2 เดือนนี้

ในส่วนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Soft Power) จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่าคนไทยกว่า 30 ล้านคนที่เล่นเกมส์ เราจึงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอาเซียน แต่จะทำอย่างไรให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตเกมส์ มีสมาร์ทสตูดิโอ ที่ออกแบบเกมส์ และเขียนโปรแกรมเกมส์ รวมทั้งเมตาร์เวิร์ส ต่างๆโดยในเรื่องนี้จะคุยกับต่างประเทศว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการสร้างสมาร์ทสตูดิโอด้านนี้ในไทยอย่างไร

สำหรับความร่วมมือกับต่างประเทศ ขณะนี้มีแผนงานความร่วมมือกับ 3 ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และ สิงคโปร์ โดยญี่ปุ่นนั้นมีการหารือเรื่องความร่วมมือด้านการลงทุนกันหลายประเด็นโดยเฉพาะการลงทุนเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยญี่ปุ่นมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆเพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดยประเด็นที่คุยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเรื่องพลังงาน ได้แก่เรื่องของการสนับสนุนการใช้พลังงานไฮโดรเจนโดยให้เมืองไทยเป็นฐานเรื่องพลังงานนี้ การร่วมมือกันทำโรงงานแบตเตอรี่ การสนับสนุนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (CCS)ในอ่าวไทย โดยมีการนำส่งรายงาน (White Paper) ไปให้ญี่ปุ่นแล้วอยู่ระหว่างการนัดหมายเพื่อพูดคุยว่าจะเดินหน้าโครงการไหนอย่างไรต่อไป

ความร่วมมือกับสิงคโปร์อยู่ระหว่างการนัดหมายหารือโดยจัดทีมมานั่งคุยกัน โดยสิงคโปร์ต้องการที่จะลงทุนในเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งไทยต้องการที่จะเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีของสิงคโปร์ในเรื่องนี้ นอกจากสิงคโปร์ต้องการที่จะซื้อพลังงานสะอาดจากไทย ทีมงานฯยังได้เชิญชวนให้สิงคโปร์ย้ายบางอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้

ม.ล.ชโยทิต กล่าวต่อว่าสำหรับความร่วมมือกับซาอุฯหลังจากที่ได้เดินทางร่วมคณะของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานไปเยือนซาอุฯก็ได้มีการหารือกันในหลายประเด็น โดยซาอุฯนั้นต้องการให้ไทยเป็นพันธมิตรในส่วนของความมั่นคงทางด้านพลังงานสะอาด และความมั่นคงทางอาหาร ในเรื่องของพลังงานซาอุฯอยากมีความร่วมมือกับไทยเช่น ให้ไทยเป็นฐานสำหรับกักเก็บน้ำมันดิบในภูมิภาค และยังสนับสนุนการลงทุนในเรื่องของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่จะใช้เป็นพลังงานที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นทางเลือกของรถโดยสารในอนาคต ซึ่งพลังงานไฮโดรเจนจะช่วยในเรื่องของการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าด้วย

“รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ วางแผนไว้ว่าภายในปี 2040 ประเทศไทยจะลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเหลือ 50% และอีก 50% เป็นการใช้พลังงานสะอาดในประเทศ จากที่ปัจจุบันเราใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าอยู่ 70% และใช้พลังงานสะอาด 20% และถ่านหินประมาณ 10% และที่วางแผนไว้นั้นค่าไฟก็จะไม่แพงกว่าอัตราราคาไฟฟ้าในปัจจุบัน เพราะเรามีเรื่องของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนที่มีขนาดใหญ่โตมาก และการมีพลังงานสะอาดเหล่านี้ทำให้การเข้ามาลงทุนของดาต้าเซนเตอร์ รถ EV ต่างๆนั้นไปได้โดยการมีพลังงานสะอาดปริมาณมากในประเทศ จึงเป็นที่มาว่าเราใช้คำว่า Better and green Thailand ซึ่งการเติบโตในภายภาคหน้าต้องทำควบคู่กันทั้งการเติบโตและความยั่งยืน”

ส่วนเรื่องของความมั่นคงทางอาหารก็ได้มีการหารือกับซาอุฯไว้ว่าเรื่องของสมาร์ทฟาร์มมิ่งที่เอาเทคโนโลยีมาจับว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตอาหารให้ซาอุฯโดยวิธีการเทคโนโลยีการปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย ส่วนอีกเรื่องคือความร่วมมือในเรื่องของสุขภาพ (Wellness) โดยซาอุฯต้องการที่จะพัฒนาเมืองด้านทะเลตะวันตกของเขาให้เป็นรีสอร์ทเพื่อท่องเที่ยวและพักฟื้นร่างกาย ซึ่งไทยจะนำเอาภูเก็ตไปเป็นเมืองที่จับคู่ความร่วมมือด้านนี้กับซาอุฯเพื่อที่จะเป็นเมืองพี่เมืองน้องที่มีความร่วมมือด้านนี้ร่วมกัน

“บรรยากาศของโลกขณะนี้ที่มีความขัดแย้งหลายด้าน ทำให้คนมองเมืองไทยมากขึ้น เพราะไทยมีทุกอย่างมีทั้งพลังงงานสะอาด มีตลาด และมีโอกาส เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสของประเทศ เมืองไทยมีอะไรดีหลายๆอย่าง อยากให้คนไทยมองเมืองไทยในเรื่องที่ดีๆบ้าง เรื่องการแข่งขันกับเพื่อนบ้านต่างๆเราก็ต้องแข่งขันกันไปแต่พูดได้เลยว่าเราไม่แพ้ ถ้าเรามีความชัดเจนและไม่ขัดแย้งกันภาย” “

สำหรับรายละเอียดของแผนงานทั้ง 8 ด้าน เป้าหมาย และความคืบหน้าในการทำงานต่างๆมีสาระสำคัญดังนี้

1.แผนงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)โดยแผนงานนี้คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่ม3.6แสนล้านบาท เพิ่มมูลค่าจีดีพีได้2.1แสนล้านบาท สามารถสร้างงาน และเพิ่มทักษะแรงงานในประเทศได้6แสนราย และลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯได้13%เทียบเท่าน้ำนัมันดิบ (BAU)โดยแผนงานนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมายEV30@30มาตั้งแต่เดือน ต.ค.2564และมีการออกมาตรการEV3ในเดือน ก.พ.2565ในเดือน มี.ค.2565 ถึงปัจจุบันมีผู้ผลิตที่ทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามมิตแล้ว ได้แก่ เกรทวอร์มอเตอร์MGและโตโยต้า

ส่วน ปตท.กับFoxconnกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการส่วนผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่BYDบริษัทฮอนด้าบริษัทHONZON BMWเมอร์ซิเดสเบนท์ และกลุ่มรถประเภทLuxury Car

สำหรับแผนงานในระยะต่อไปภายในไตรมาสที่ 3 จะมีการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนสำหรับแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟเพิ่มเติม

 

2.การดึงชาวต่างชาติศักยภาพสูงข้ามาอาศัยในประเทศไทย ตามมาตรการวีซ่าสำหรับผู้อยู่อาศัยระยะยาว (LTR) โดยมีเป้าหมายที่จะดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและรายได้สูงเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย เพื่อเพิ่มมูลค่าจีดีพีให้ได้ 1 ล้านล้านบาท และมูลค่าการลงทุนที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 5 – 6 แสนล้านบาท

โดยมาตการนี้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 ต่อมาในดือน พ.ค.2565 อนุมัติหลักเกณฑ์ LTR และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการ LTR ขั้นตอนการทำงานในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมระบบการทำงาน และการเปิดให้เอกชนมาร่วมให้บริการ และจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลครบวงจร (LTR OSS)

3.แผนการพัฒนาดิจิทัล (Hyperscalers Data Center & Cloud Service) ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะสามารถเพิ่มการลงทุนได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้คาดว่าจะมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท โดนในเดือนมิ.ย.2565 ครม.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อสนับสนุนธุรกิจดาต้า เซนเตอร์ในประเทศไทย โดยความคืบหน้าล่าสุดภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะมีการลงทุนของ ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ขนาดใหญ่ที่อาศัยพลังการประมวลผลอย่างมหาศาล (Hyperscalers) ในเมืองไทยของนักลงทุนต่างประเทศ จำนวน 2 ราย

4.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มในสาขานี้ 6.7 แสนล้านบาทช่วยเพิ่มการจ้างงานในระดับปริญญาโท/เอก 10400 ตำแหน่ ช่วยเพิ่มจีดีพีได้กว่า 5 แสนล้านบาท

โดยการดำเนินการผลักดันในเรื่องในเดือน ก.ค.2564 Arcelik Hitachi ย้ายสำนักงานใหญ่มายังประเทศไทย ในวันที่ 22 มิ.ย.มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างปตท.กับบริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในระยะต่อไปจะมีการทำแผนและเสนอมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตอิเล็ทรอนิกส์ต้นน้ำในประเทศไทย

5.การส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศประมาณ 5 พันล้านบาท เพิ่มมูลค่าจีดีพี 3 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มการจ้างงานใหม่ในสาขาครีเอทีพและดิจิทัลได้ประมาณ 1.5 หมื่นตำแหน่ง

6.ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น โดยร่วมมือกับกระทรวงอุตสากรรมและการค้าของญี่ปุ่น (METI) โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนร่วมกันประมาณ 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 5 โครงการความร่วมมือ ได้แก่ โครงการการพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โครงการพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ร่วมกัน การพัฒนารถยนต์ EV แบบที่ใช้แบตเตอรี่ให้ได้ 2.4 แสนคันต่อปี และแบตเตอรี่ขนาด 14 – 15 กิกะวัตต์ รวมทั้งโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และโครงการพลังงานหมุนเวียน

7.ความร่วมมือกับประเทศซาอุดีอาระเบีย คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนร่วมกันประมาณ 3 – 6 แสนล้านบาท โดยหลังจากที่ได้มีการหารือกับรัฐบาลซาอุฯในหลายระดับ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดแผน 7 โครงการเชิงกลยุทธ์ และในเดือน พ.ค.ได้ร่วมเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยความคืบหน้าคือได้เริ่มมีการประชุมหารือเพื่อสร้างความร่วมมมือทางเศรษฐกิจในด้านพลังงาน ปิโตรเคมี เชื้อเพลิงชีวภาพ การเกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการบริการ

ส่วนความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้นั้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนขั้นตอนการทำงานในด้านต่างๆ โดยมีความร่วมมือที่จะหยิบจึ้นมาขับเคลื่อนเป็นลำดับต้นๆ เช่น การสร้างความร่วมมือด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV และการพัฒนาอุตสาหกรรมเกม และเมตาวร์สร่วมกัน

และ 8.ความร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์ ได้มีการหารือกับการพัฒนาโครงการความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์ในด้านพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกัน