TGE จากสวนปาล์มสู่ธุรกิจ“พลังงานสะอาด”
ศักยภาพในการแข่งขันได้เปรียบคู่แข่งทั้ง “วัตถุดิบ-ต้นทุนผลิตต่ำ” จุดเด่นหุ้นน้องใหม่ “ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่” กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส.ค.นี้ ราคาหุ้นละ 2 บาท “พงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล” นายใหญ่ โชว์พันธกิจเร่งขยายโรงไฟฟ้า กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ในปี 2570
จากจุดเริ่มต้นธุรกิจมาจาก “การเพาะปลูกสวนปาล์ม” ที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2529 และต่อยอดสร้างความมั่นคงต่อเนื่องจากการขายผลปาล์มเข้าโรงงาน 16,000 ตันต่อปี สู่ “โรงสกัดน้ำมันปาล์ม” โรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น การขนส่ง” ภายใต้ชื่อกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม จนถึงการผลิต “พลังงานทดแทน” ภายใต้ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE
กำลังจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คาดจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรก (เทรด) กลางเดือนส.ค. 2565 นี้
ด้วย “จุดเด่น” อยู่ที่ “รายได้และกระแสเงินสด” ที่มั่นคง มีอัตรากำไรที่แข็งแกร่ง โดย TGE มี EBITDA Margin เฉลี่ยที่สูงถึง 47% สูงกว่าผู้ประกอบการอื่นในธุรกิจเดียวกัน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันจากการมีวัตถุดิบที่เพียงพอและมั่นคง สามารถผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนต่ำ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลประเภททะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม และกะลาปาล์ม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิต (by product) ของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบขนาด 150 ต้น ผลปาล์มสดต่อชั่วโมงที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำมาก เพราะโรงไฟฟ้าและโรงสกัดอยู่บนพื้นที่เดียวกัน
อีกทั้ง TGE ยังมีแผนขยายสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงมีศักยภาพที่จะขยายกำลังการผลิตให้เติบโตและสร้างกำไรที่ดีได้ในอนาคต
สะท้อนผ่านตัวเลขผลการดำเนินงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 94.3 ล้านบาท 166.9 ล้านบาท และ 202.1 ล้านบาท ตามลำดับ และมีรายได้รวม 347.5 ล้านบาท 713.5 ล้านบาท และ 807.5 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 52.4% ต่อปี ล่าสุด ไตรมาส 1 ปี 65 มีรายได้รวม 233.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 51.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“พงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า การเข้าระดมทุนในครั้งนี้ !! หลังมองเห็นโอกาสเติบโตอีกมาก สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลกที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
สะท้อนผ่านบริษัทมีแผนจะนำเงินจากการระดมทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ขยายการลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า ชำระเงินกู้สถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
สำหรับแผนธุรกิจหลังระดมทุน บริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัททั้งหมด รวมกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ COD และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการให้มากกว่า 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2570 และมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ ในปี 2575 ตามกลยุทธ์ขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทอื่นที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และก๊าซชีวภาพ
พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาขยายธุรกิจเพิ่มเติมไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้เรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ณ ปัจจุบัน TGE มีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2 ประเภท คือ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ซึ่งมีการเปิดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 เมกะวัตต์ “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” จำนวน 3 โครงการ คือ TES SKW จ. สระแก้ว , TES RBR จ. ราชบุรี และ TES CPN จ. ชุมพร กำลังผลิตติดตั้งรวม 22 เมกะวัตต์
ขณะนี้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 29.7 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพิ่มเติมอีก 22 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งปี 2565 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 49.7 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัทยังเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 4 โครงการ คือ โรงไฟฟ้า TES PRI จ.ปราจีนบุรี, โรงไฟฟ้า TES CNT จ.ชัยนาท, โรงไฟฟ้า TES UBN จ.อุบลราชธานี และโรงไฟฟ้า TES TCN จ.สมุทรสาคร
โดยคาดว่าหากได้รับคัดเลือกจาก อปท. ที่เกี่ยวข้องให้เป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการในปี 65 คาดว่าจะ COD ได้ในปี 2569 และคาดว่ากำลังผลิตติดตั้งรวมของบริษัทในอีก 4 ปีข้างหน้าภายหลังทั้ง 4 โครงการเริ่มดำเนินการแล้ว จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 90 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มเป็น 30-40% ของรายได้รวม
ท้ายสุด “พงศ์นรินทร์” บอกไว้ว่า บริษัทมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำ โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการรุกขยายธุรกิจและต่อยอดจุดแข็งความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน