ประมง ชี้กุ้งไม่พอป้อนโรงงาน ถก Shrimp Board เปิดนำเข้าขณะนี้แค่ 41 ตัน
กรมประมง แจงเปิดนำเข้ากุ้ง จากเอกวาดอร์แค่ 41 ตัน อ้างผลผลิตในประเทศไม่พอป้อนโรงงาน ด้านเกษตรกรใน Shrimp board หนุนหวังสร้างเสถียรภาพราคาในอนาคต ชี้คนต้านเสนอหาทางแก้ด้วย
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือ ว่า จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก
โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 4 แสนตัน ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ Shrimp Board ได้ศึกษาแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งขาวแวนนาไม ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 64- 31 ธ.ค. 65 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาโดยพันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 3.2 แสนตัน และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 4 แสนตัน
ภายใต้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย 11 แนวทาง โดยมีแนวทางหลัก ดังนี้ การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ผ่านกลไกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ 35 จังหวัด การแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งเป็นปัญหาหลักและเป็นต้นทุนแฝงของการเลี้ยงกุ้ง มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile clinic) และสายด่วนปรึกษาปัญหาโรคสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที
การจัดการการเลี้ยง มีการถอดบทเรียนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้มีปราชญ์เลี้ยงกุ้งหรือฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้นแบบในแต่ละพื้นที่ มีการสนับสนุนการใช้จุลินทรีย์และส่งเสริมให้ชมรมหรือกลุ่มเกษตรกรผลิตจุลินทรีย์ ปม. 2 การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล กรมประมงได้พัฒนาพันธุ์กุ้งขาวฯ สายพันธุ์สิชล 1 ผลิต
และจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร การจัดหาแหล่งทุน โดยการจัดทำโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานข้างต้นมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย กรมประมงจึงกำหนดให้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลเป็นประจำทุกเดือน
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนม.ค.- ก.ค.65 พบว่าไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 1.38 แสนตัน แยกเป็นกุ้งขาวแวนาไม 1.29 แสนตัน หรือประมาณ 93.06% ที่เหลือเป็นกุ้งกุลาดำ 9.6 พันตันหรือ 6.94 % โดยรวมแล้วผลผลิตกุ้งลดลง 3.09 %
“แม้ว่ากรมประมงจะมีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล และลงพื้นที่ดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่การขาดความเชื่อมั่นด้านราคา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลในภาพรวมลดลง”
นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ในอดีตที่ไทยผลิตกุ้งได้ 6.5 แสนตัน ทางโรงงานมีกำลังการผลิต และรับออเดอร์มากถึง 7.5 แสนตัน ทำให้ช่วงนั้นต้องนำเข้ากุ้งเพื่อแปรรูปส่งออก อีก 1 แสนตัน
ต่อมาเมื่อกุ้งไทยมีโรคระบาด อีเอ็มเอส หรือตายด่วน ผลผลิตกุ้งได้รับความเสียหายและลดลง เหลือเพียง 2.7 แสนตัน โดยห้ามนำเข้าตลอดมา โรงงานจำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ในที่ต่างประเทศมีการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ทั้งเอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ผลิตกุ้งได้รวมกันประมาณ 2.7ล้านตัน สิบเท่าของประเทศไทย ทำให้ราคาอ้างอิงในตลาดโลกเปลี่ยนจาก ราคามหาชัย ไปเป็น ราคาเอกวาดอร์ และอินเดีย ที่เลี้ยงได้โดยต้นทุนต่ำกว่าไทย
“ลูกค้าใช้ราคาอ้างอิงนี้ในการเจรจาสั่งซื้อ ทำให้ไทยไม่สามารถอ้างราคากุ้งในประเทศได้เหมือนเมื่อก่อน แม้มีลูกค้าที่สามารถจัดซื้อกุ้งวัตถุดิบมาส่งให้ไทยแปรรูปได้ในราคาต่ำกว่ากุ้งไทยก็จะติดขัดเรื่องการห้ามนำเข้า จึงย้ายไปสั่งซื้อจากแหล่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม ที่ขยายกิจกรรมแปรรูปโดยอาศัยวัตถุดิบกุ้งนำเข้าทั้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย”
ขณะที่การเลี้ยงกุ้งของไทยได้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ แต่โรงงานจำเป็นต้องมีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดกำลังผลิตให้สอดคล้องกับผลผลิตกุ้งจากบ่อเลี้ยงได้ ดังนั้นการนำเข้าจะสามารถช่วยให้โรงงานที่ยังเหลืออยู่มีงานทำต่อเนื่อง ลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถซื้อกุ้งในประเทศได้ในราคาที่เกษตรกรไม่ขาดทุน เมื่อไทยสามารถซื้อกุ้งในตลาดโลกได้ จะช่วยพยุงราคาอ้างอิงไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป ลดส่วนต่างระหว่างราคากุ้งในประเทศกับในตลาดโลก และส่งผลให้ซื้อกุ้งในประเทศได้มากขึ้นด้วย
สมาชิกสมาคมที่ยังเน้นการแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออก ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรและกรมประมงในการศึกษาระดับความพอดีของปริมาณกุ้งนำเข้าที่จะไม่กระทบกับผลผลิตในประเทศ โดยเน้นการนำวัตถุดิบมาใช้ในช่วงที่กุ้งไทยมีผลผลิตต่ำ ตามฤดูกาล สมาชิกที่นำเข้ากุ้งมีพันธกรณีที่จะซื้อกุ้งในประเทศในราคาตามที่ตกลงกันใน Shrimp Board กุ้งที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่กรมประมงกำหนด
“ หากไม่อนุญาตให้นำเข้า ราคากุ้งในประเทศจะสูงขึ้น โดยเป็นความเสี่ยงกับโรงงาน และอาจมีการกดราคารับซื้อให้ถูกลง ซึ่งเราไม่อยากทำเพราะเกษตรกรจะแย่ แต่หากเปิดให้นำเข้าโรงงานสามารถผลิตได้ต่อเนื่องโรงงานเหล่านี้จะมีกำลังเสนอซื้อกุ้งในประเทศที่มีคุณภาพดีกว่าในราคาที่สูงขึ้นได้ “
ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยต่างให้ความสำคัญกับกุ้งไทยเป็นลำดับแรก เพราะมีคุณภาพดีกว่า เจรจาง่ายไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ในกรณีที่กุ้งนำเข้ามีส่วนต่างจากกุ้งไทยเพียง 10-20 บาท ถือว่าไม่คุ้มที่จะนำเข้ามา อีกทั้งการนำเข้าจะเป็นบางช่วงที่ผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอกับความต้องการเท่านั้นโดยรับรองได้ว่าจะไม่มีการสวมสิทธิ์เป็นกุ้งไทยเพื่อส่งออกอย่างแน่นอน และมีเป้าหมายที่ จะสร้างเสถียรภาพราคา ความเข้มแข็งทั้งในภาคผู้เลี้ยงและโรงงานแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมโดยรวมฟื้นฟูและอยู่รอดได้ต่อไป
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าว ปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลของไทยอยู่ในปริมาณ2.5-3.5 แสนตัน เท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมของเกษตรกรไม่เท่ากัน และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงพบว่า มีเกษตรกรผู้ประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งทะเลประมาณ 3 หมื่นราย โดยมีพื้นที่ประมาณ 6 แสนไร่ ซึ่ง Shrimp Board ร่วมกันคิดเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 4 แสนตัน ในปี 2566
นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาทั้งด้านราคาตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้ประสบปัญหาภาวะขาดทุน แรงจูงใจที่สำคัญของเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล คือ ปัจจัยด้านราคา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรต้องแก้ไขปัญหาด้านราคาตกต่ำด้วยวิธีการของตนเอง ผ่านกลไกการร้องขอจากรัฐบาล
ซึ่งการจัดตั้ง Shrimp Board ในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย เป็นความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง
“เกษตรกรที่ออกมาโวยวายกรณีการนำเข้ากุ้งนั้น แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเกษตร 17 จังหวัด สมาชิกได้หารือและรับรู้เรื่องการนำเข้ากุ้งมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเพราะผลผลิตในประเทศไม่พอ โรงงานต้องนำเข้าแล้วแปรรูปเพื่อส่งออกและแข่งขันในตลาดโลก อุตสาหกรรมกุ้งของไทยจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการนำเข้าเป็นเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น ผู้ที่คัดค้านการนำเข้าคิดในทางสร้างสรรค์โดยควรเสนอแนะหาทางออกด้วย “
ทั้งนี้การผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ผลผลิตต้องเพียงพอเพื่อสามารถต่อรองในตลาดโลกได้ จากการหารือร่วมกันใน Shrimp Board การนำเข้ากุ้งขาวฯ เพื่อมาทดแทนในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงเพื่อรักษาตลาดมีความจำเป็น
และขณะเดียวกันทำอย่างไรเกษตรกรภายในประเทศต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า Shrimp Board จึงตกลงร่วมกันให้มีการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อไม่ให้เกษตรกรภายในประเทศประสบปัญหาราคาตกต่ำเหมือนในอดีตและยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์ที่แท้จริง เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก