Weekly OIl Market ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

Weekly OIl Market ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 84 - 94 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 90 - 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Weekly OIl Market ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8-12 ส.ค. 65) 

        ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัวและกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน ภายหลังตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จีนและยุโรปออกมาอ่อนแอ  ประกอบกับสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการที่เข้มงวดตามนโยบายปลอดโควิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ อย่างไรก็ตาม การประชุมของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ที่ทางกลุ่มปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี สอดคล้องกับตัวเลข GDP ไตรมาส 2/65 ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง 0.9 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q) เช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของฝั่งยูโรโซนซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันดิบ

-  สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในจีนยังคงน่ากังวล หลังรัฐบาลบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในมณฑลอู่ฮั่น ตามนโยบายปลอดโควิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อการผลิต (PMI) เดือน ก.ค. 65 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.0 ซึ่งต่ำกว่า 50 แสดงถึงกิจกรรมในภาคอุตสาหกกรรมที่ซบเซาลง และคาดว่าจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการใช้น้ำมันภายในประเทศ 

- ปริมาณการผลิตน้ำมันของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค 65 หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (force majeure) การกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของลิเบีย จะช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวได้ ขณะเดียวกันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบ โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำหรับสิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 29 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 9 แท่น สู่ระดับ 767 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ มี.ค. 63
 

-  กลุ่มโอเปคพลัสประกาศเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 100,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย. ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของความต้องการใช้น้ำมันของโลก แม้ว่าการเดินเยือนซาอุฯ ของ ปธน. สหรัฐ จะมีการ เรียกร้องให้ทางกลุ่มเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อชะลอความร้อนแรงของราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลายประเทศสมาชิกมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (spare capacity) ในระดับที่ต่ำ จึงไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวต่อเนื่อง

-  มาตราการตรึงราคา (price cap) น้ำมันของรัสเซีย เพื่อจำกัดรายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับความร่วมมือจากจีน เนื่องจากจีนมีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอย่างต่อเนื่องและล่าสุดการเดินเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

-   ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 29 ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะปรับลดลง 0.6 ล้านบาร์เรล สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่าปริมาณความต้องการจะยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องภายหลังตลาดมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจหดตัวของสหรัฐฯ

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ค. 65 ของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอาจะปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 8.9 % และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ค. 65 ของจีนซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอาจะปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 2.4 % เช่นกัน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 ส.ค.65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 89.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 5.11 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 94.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 93.62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังลิเบียสามารถปรับเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันดิบสู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 ประกอบกับตัวเลขข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสวนทางกับที่คาด โดยน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น 4.5 และ 0.4 ล้านบาร์เรลตามลำดับ จากที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดลง 0.6 และ 1.6 ล้านบาร์เรลตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดต่ำลง จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย