12 เหตุผลที่ทำให้ "สตาร์ทอัพ" ไม่ประสบความสำเร็จ

อยากเป็น "ยูนิคอร์น" ต้องรู้! 12 เหตุผลที่ทำให้ "สตาร์ทอัพ" ไปไม่ถึงฝัน หรือ "ไม่ประสบความสำเร็จ" จากการรวบรวมข้อมูลของ "CB Insights"
"ทำร้อยรอดหนึ่ง" คำเปรียบเทียบที่สะท้อนถึงความสำเร็จของกลุ่ม "สตาร์ทอัพ" ที่ไม่เกินจริง
เมื่อตลอดเวลาที่ผ่านมาสตาร์ทอัพ จำนวนมากผุดขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก แต่เหลือเพียงไม่มีรายที่ได้ไปต่อ และเหลือเพียงน้อยนิดที่ไปถึงฝั่งฝัน หรือประสบความสำเร็จถึงระดับ "ยูนิคอร์น" (มีมูลค่ารวมถึง 1,000 ล้านดอลลาร์)
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมธุรกิจสตาร์ทอัพ ถึงประสบความสำเร็จได้ยาก แล้วอะไรกันแน่ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ "ล้มเหลว" โดยผลจากการรวบรวมสถิติของ "CB Insights" ที่วิเคราะห์จากสตาร์ทอัพที่ตายแล้ว 101 ราย โดยปรากฏข้อมูลที่ให้ว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้สตาร์ทอัพไม่ประสบความสำเร็จ มีดังนี้
1. ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด 42%
สาเหตุที่พบมากที่สุดคือ สตาร์ทอัพที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่มีตลาดรองรับ หรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือบางครั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดได้ใหญ่พอที่จะให้บริการในระดับสากล ทำให้เมื่อจำเป็นต้องปรับสเกลที่ใหญ่ขึ้นทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ แม้จะมีดีในมิติอื่นๆ ก็ตาม
2. เงินไม่พอ หรือขาดเงินทุน 29%
เงินและเวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัดสำหรับสตาร์ทอัพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพราะหลายครั้งเงินถูกใช้ไปโดยไม่ได้ประโยชน์กลับมา ทำให้การหมุนเวียนเงินในกิจการไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อไม่สามารถเพิ่มทุนได้แล้ว ก็จะนำสู่ความล้มเหลวในที่สุด
3. ขาดทีมที่เหมาะสม 23%
ไม่ว่าธุรกิจไหนๆ ก็ต้องการ "ทีมที่ใช่" สตาร์ทอัพก็เช่นกัน ทีมที่มีความหลากหลายและมีทักษะที่แตกต่างกันมีความสำคัญต่อความสำเร็จของกิจการ ซึ่งหลายครั้งที่ทีมไม่แข็งแกร่งพอ ก็เป็นส่วนที่ทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้อย่างน่าเสียดาย
4. สู้คู่แข่งไม่ได้ 19%
แม้สตาร์ทอัพมักจะมีเป้าหมายเพื่อแก้เพนพอยต์ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค และไม่ได้ทำผลิตภัณฑ์เพื่อแข่งขันในตลาดที่มีอยู่เดิมมากนัก แต่เมื่อตลาดขยายตัวมากขึ้น การไม่ศึกษาหรือสนใจคู่แข่งเลย ก็มีส่วนทำให้เกิดความล้มเหลวได้
5. ราคาและต้นทุน 19%
เมื่อแกะกรณีศึกษาเบื้องหลังของความล้มเหลวของสตาร์ทอัพ พบว่า "ราคา" เป็นศาสตร์มืดอย่างหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพล้มเหลว ความยากในการตั้งราคาหรือต้นทุนให้ไม่สูงหรือต่ำเกินไป หากไม่สามารถหาความสมดุลในเรื่องนี้ได้ก็มีส่วนให้ไปไม่รอด
6. ผลิตภัณฑ์ยังไม่ดีพอ 17%
ยังไม่ดีพอ ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่คุณสมบัติการใช้งานเท่านั้น แต่ถ้าไม่ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ก็มีส่วนทำให้ไม่ได้รับความนิยมเช่นกัน
7. ขาดโมเดลธุรกิจที่ดี 17%
รูปแบบการทำธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญมาก หากสตาร์ทอัพยึดติดอยู่กับการทำธุรกิจที่อาจเติบโตได้ยากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง หรือทำเงินไม่ได้จริง จะมีส่วนทำให้นักลงทุนเกิดความลังเล ที่อาจทำให้ขาดเงินทุนมาต่อยอดและไม่ประสบความสำเร็จ
8. การตลาดไม่ดี 14%
สตาร์ทอัพทำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดีอย่างเดียวไม่พอ ถ้าขาดองค์ความรู้ในการทำการตลาด ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย หรือไม่สามารถครองผู้บริโภคในระยะยาว ก็มีโอกาสพังได้ไม่ยากเช่นกัน
9. ไม่ใส่ใจผู้บริโภค 14%
ไม่ว่าผลิตภัณฑ์จะดีแค่ไหน แต่หากไม่รับฟังผู้บริโภค ไม่สนใจที่จะนำความเห็นมาปรับปรุงเมื่อมีข้อบกพร่องก็เป็นหายนะที่คืบคลานเข้ามาทำลายธุรกิจให้ล้มเหลวได้
10. จังหวะ เวลา ยังไม่เหมาะสม 13%
จังหวะเวลาในการปล่อยผลิตภัณฑ์สู่ตลาดเป็นจุดเปลี่ยนให้สตาร์ทอัพปังหรือพังได้เลยทีเดียว แม้ผลิตภัณฑ์จะดีแต่มาก่อนกาล ออกมาเร็วเกินไปจนทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ายังไม่จำเป็นในตอนนี้ก็อาจทำให้จุดติดได้ยาก ขณะเดียวกันถ้ามาช้าไป ทำให้แข่งขันยาก และเสียโอกาสในการเปิดตลาด
11. โฟกัสไม่มากพอ 13%
การทำธุรกิจจำเป็นต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ และต้องโฟกัสอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการที่ล้มเหลวมักจะขาดการโฟกัสที่ดี เปลี่ยนไปมา ไม่มั่นคง ไม่แน่วแน่ ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้ธุรกิจล้มเหลว
12. ไม่ลงรอยกับทีม/นักลงทุน 13%
"คน" มีส่วนต่อความสำเร็จของสตาร์ทอัพอย่างมาก บางครั้งการเป็นรูมเมทกับเพื่อนที่สนิทที่สุดก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดี เช่นเดียวกับการทำสตาร์ทอัพ ที่หลายคนคิดว่าทำกับเพื่อนสนิทหรือคนสนิทจะรุ่งเพราะไว้ใจและรู้สึกดีต่อกัน ทว่าสถิติกลับสะท้อนว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปสตาร์ทอัพบางส่วนต้องเสียที่ธุรกิจและคนสนิทไปเพราะไม่ลงรอยกัน
---------------------------------------------
อ้างอิง: CB Insights, smethailandclub