รวมตัวครั้งประวัติศาสตร์ มาม่า-ไวไว-ยำยำ-นิชชิน-ซื่อสัตย์ ถกต้นทุน-ราคา
นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่บิ๊กแบรนด์ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ออกมารวมตัวกัน วันที่ 15 ส.ค.นี้ เวลา 13.00 น. เพื่อแจงสถานการณ์ต้นทุน และทิศทางการปรับขึ้นราคาสินค้า หลังเผชิญกับภาวะวัตุดิบพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จากผลกระทบของสงคราม ราคาพลังงานขยับแรง
การรวมตัวกันครั้งนี้ ประกอบด้วย มาม่า ไวไว ยำยำ นิชชิน และซื่อสัตย์
ย้อนดูสถานการณ์ต้นทุนที่ผู้ผลิตบะหมี่ฯต้องแบกรับตั้งแต่ต้นปี เช่น แป้งสาลีแตะกว่า 500 บาทต่อถุง จาก 250 บาทต่อถุง น้ำมันปาล์มเคยพุ่งพีคเกินกว่า 6 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จาก 18 บาทต่อกก. โดยล่าสุดราคามีการปรับตัวอ่อนตัวลงบ้าง แต่ยังอยู่ระดับสูงกว่า 50 บาทต่อกก. หรือสูงเกือบ 3 เท่าตัว
นอกจากนี้ ยังมีวัตถุดิบอื่น ทั้งสินค้าเกษตร ที่นำมาทำเป็นเครื่องปรุงรส และแพ็คเกจจิ้งสูงขึ้น 20-30%
เมื่อต้นทุนสูงเกินจะแบก ทำให้ผู้ผลิตพยายามยื่นหนังสือถึงกรมการค้าภายใน เพื่อแจงต้นทุนละเอียดยิบ และขอ “ปรับราคา” ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ได้ระบุชัดๆว่าต้องเป็น “กี่บาท” ถึงจะเพียงพอให้บริหารจัดการต้นทุน และการผลิตสินค้าจนไม่เกิดภาวะ “ขาดตลาด”
ทว่า ล่าสุด มีผู้ผลิตหลายรายเห็นพ้องกันในการขยับราคาเป็น 8 บาทต่อซอง เพราะสภาพตอนนี้บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ไหวแล้วจริงๆ”
ดูเส้นทางการขอขยับขึ้นราคาของ “เบอร์ 1” อย่าง “มาม่า” จะเห็นว่า “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ถึงกับออกโรงเอง ขอให้รัฐหรือกระทรวงพาณิชย์ “เมตตา” เพราะต้นทุนที่พุ่งสูง บริษัทเพิ่งเจอสูงสุดเป็ประวัติการณ์ในรอบ 26 ปี เนื่องจากพิษสงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รุนแรงมาก จากเดิมคาดการณ์เกิดไม่กี่วัน เอาเข้าจริงลากยาวเกินร้อยวันเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ หากพลิกซองบะหมี่ฯ จะพบว่า ต้นทุนหลักๆ แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม เรียกว่าเกินครึ่ง บางรสชาติ 60-70% ด้วยซ้ำ
แล้วบะหมี่ฯ ขึ้นราคาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? ด้วยบะหมี่ฯ เป็นสินค้าควบคุมโดยกรมการค้าภายใน นอกจากการเป็น “สินค้าจำเป็น” บะหมี่ฯ ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ “สินค้าการเมือง” อีกด้วย
เพราะไม่ว่าต้นทุนจะพุ่งแรงแค่ไหน ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่อยากให้ปรับราคา เพราะกลัวจะเป็น “ตราบาป” ของรัฐบาลนั้น ทำให้ บะหมี่ฯ ถูกตรึงราคาเดิมมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจ เคยสอบถามกับแหล่งข่าววงการบะหมี่ฯ พบว่า ราคาที่ปรับขึ้น 1 บาทต่อซอง มีผลอย่างไรต่อกำลังซื้อผู้บริโภค คำตอบคือ คนไทยบริโภคบะหมี่ฯเฉลี่ย 52 ซองต่อคนต่อปี นั่นหมายความว่า หากขึ้นราคาดังกล่าว จะมีผลต่อภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 52 บาทต่อคนต่อปี แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครกินบะหมี่ฯทุกวัน
กรุงเทพธุรกิจ ได้สอบถามผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่เห็นพ้องกัน คือเรื่อง “กลไกตลาด” หลายครั้งที่ต้นทุนขึ้น ผู้ผลิตขยับราคา พอต้นทุนลด ท้ายที่สุดจะเห็นการห้ำหั่นกันด้วยโปรโมชั่น เพื่อดึงกำลังซื้อ กระตุ้นยอดขาย
สำหรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าราว 18,000 ล้านบาท ครึ่งปีแรกเติบโตราว 4-5% โดยตลาดแมสหรือซอง 6 บาท มีสัดส่วนใหญ่สุด และเซ็กเมนต์พรีเมียม ซึ่งมีการเติบโตสูง
อย่างไรก็ตาม การขอขึ้นราคาบะหมี่ฯในครั้งนี้ ต้องดูว่าตัวเลข 8 บาท รัฐบาลจะยอมไฟเขียวให้ไหม เพราะรัฐยังมองเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน แล้วหากไม่ได้ตามที่ผู้ผลิตขอ สินค้าจะขาดตลาดหรือเปล่า ต้องติดตามการแถลงของ “บิ๊กบะหมี่ฯ” ทั้ง 5 ราย จะให้ข้อมูลออกมาอย่างไร