โรงแรมรับมือวิกฤติคนขาดแคลน! จี้รัฐ MOU นำเข้ากำลังเสริม "แรงงานต่างด้าว"
“ภาวะหาคนยาก” คือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจโรงแรมและไมซ์ (MICE : การจัดประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ตอนนี้ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนที่เคยออกจากระบบการทำงานไปเมื่อช่วงเกิดวิกฤติ ไม่กลับเข้าสู่ระบบการทำงานประจำ
ส่วนหนึ่งได้สร้างธุรกิจส่วนตัว หรือมีอาชีพเสริมที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบการทำงานประจำ รวมถึงมีวิถีการทำงานแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของหลายๆ องค์กรกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน นั่นคือการหาคนทำงานยากขึ้น!
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องการจากภาครัฐ เพื่อเร่งแก้ไข “ปัญหาขาดแคลนแรงงาน” เช่น การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เปิดให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้หลายตำแหน่งขึ้น มีกระบวนการนำเข้าที่ง่ายขึ้น และเพิ่มจำนวนสัญชาติใน MOU ให้หลากหลายขึ้น
ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการใน “ภูเก็ต” จากการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงาน พบว่า 45% เป็นกลุ่มโรงแรมที่พัก หรือคิดเป็นจำนวน 695 แห่ง จากจำนวนสถานประกอบ 1,463 แห่ง โดยจากจำนวนอัตราที่ประกาศรับสมัครพนักงาน 17,173 อัตรา เป็นกลุ่มโรงแรมที่พัก 7,727 อัตรา ความต้องการรองลงมาคือธุรกิจบริการ และธุรกิจค้าปลีก
“ตำแหน่งที่ขาดพนักงานอย่างมากในกลุ่มโรงแรมที่พัก มีทั้งแผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกอาหารและเครื่องดื่ม ช่างซ่อมบำรุง ส่วนโรงแรมที่มีบริการสปา ก็ขาดแคลน สปา เธอราพิสต์ (Spa Therapist) เช่นกัน”
สำหรับแรงงานที่ธุรกิจโรงแรมต้องการ ประกอบไปด้วย 1.แรงงานระยะสั้น เช่น นักศึกษาฝึกงานมาช่วยงานในโรงแรม 4 เดือน หากเป็นระบบทวิภาคี ก็จะมีการฝึกงาน 1 ปี บางโรงแรมมีนักศึกษาฝึกงานต่างชาติด้วย โดยสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ได้ MOU ร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 ซึ่งมีทั้งหมด 7 วิทยาลัย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และระนอง 2.แรงงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานในโรงแรม สามารถรับการฝึกระยะสั้นแล้วเข้ามาทำงานในโรงแรมได้ และ 3.แรงงานที่เคยทำงานโรงแรมมาก่อน แต่ไปทำอาชีพอื่นๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาด
ด้านข้อสรุปในการเสนอแรงงานและการตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ มีดังนี้ 1.การขยายผล Non-Immigrant ED Visa สำหรับนักศึกษาฝึกงานต่างชาติ (Study or Internship in Thailand) 2.ขยายจำนวนประเทศที่ลงนาม MOU แรงงาน ด้วยการเพิ่มประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และจีน พร้อมปรับปรุงเงื่อนไขให้ง่ายต่อนายจ้าง จากปัจจุบันทำ MOU ร่วมกับเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา 3.ขยายตำแหน่งงานที่แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ใน MOU เช่น ตำแหน่ง Front Office อาชีพที่คนต่างด้าวห้ามทำโดยเด็ดขาด สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น และ 4.ปรับรายได้ขั้นต่ำในการจ้างงาน Non-Immigrant Visa Expatriate
ด้าน ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของ “อิมแพ็ค” ปัจจุบันจำนวนการจัดงานประชุม สัมมนา และคอนเสิร์ต เริ่มฟื้นตัวกลับมา ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับแผนเรื่อง “บุคลากร” ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สอดรับกับสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป
ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้าง “พนักงานใหม่” ให้มีหลายแนวทางขึ้น เช่น การจ้างงานแบบ Project Based หรือแบบ Gig Economy เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงทางเลือกในการใช้ Outsource ในบางงานที่ทำได้ ปรับกระบวนการทำงานไปสู่ HR Tech โดยพัฒนาระบบและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านทรัพยากรบุคคล รวมถึงการปรับแผน Employer Branding เพื่อให้สามารถเข้าถึงและดึงดูด “คนรุ่นใหม่” ให้สนใจมาทำงานกับอิมแพ็คมากขึ้น
“ในตลาดแรงงานไมซ์ เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้สนใจธุรกิจไมซ์นัก อาจเป็นเพราะไม่ค่อยรู้จัก ไม่ใช่สาขาอาชีพเป้าหมาย บวกกับไมซ์ไม่ใช่ธุรกิจที่ได้รับความนิยม อิมแพ็คจึงต้องดึงเด็กรุ่นใหม่เข้ามาในธุรกิจไมซ์อย่างต่อเนื่อง”
ด้วยการจัดโครงการ “กล้า MICE” ซึ่งเป็นเสมือนแคมป์สำหรับนักศึกษาฝึกงานโครงการแรกของอุตสาหกรรมไมซ์ที่เกิดขึ้นปีแรกในปี 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการทำงานอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจไมซ์ นอกจากนี้อิมแพ็คยังวางแผนระยะยาวไปถึงการทำ MICE Academy ในอนาคตอีกด้วย
สำหรับการพัฒนา “บุคลากรในองค์กร” ทางบริษัทฯเร่งเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ แก่พนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2,000 คน ให้มีทักษะการทำงานที่หลากหลาย (Multi-skill) และพยายามปลูกฝังแนวคิดด้านนวัตกรรม (Innovation Mindset) ให้พนักงาน โดยได้ริเริ่มโครงการ “ประกวดนวัตกรรม R2i” (From Routine to Innovation) จัดมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการคิดนอกกรอบ การคิดแก้ปัญหาจากแนวทางใหม่ๆ เปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงศักยภาพของตนเอง สร้างการมีส่วนร่วมช่วยพัฒนาองค์กร และมีหลายผลงานได้รับคัดเลือกไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในเชิงธุรกิจด้วย
“ทางอิมแพ็คยังให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสการเติบโตให้พนักงานภายในองค์กร โดยมีโอกาสปรับเปลี่ยนงานภายในบริษัทและบริษัทในเครือ เปิดให้พนักงานสามารถทำงาน Part-time ในบริษัทเพื่อเพิ่มรายได้ มีการปรับเปลี่ยนแผนสวัสดิการพนักงาน เน้น Wellness Program เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน”