“เทควอร์” รอวันปะทุปมท้าการค้าไทย ห่วง“บอลลูน”หลงทางพาศก.หลงทิศ

“เทควอร์” รอวันปะทุปมท้าการค้าไทย    ห่วง“บอลลูน”หลงทางพาศก.หลงทิศ

เหตุโลกระทึกเกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังสหรัฐแถลงพบบอลลูนสอดแนมของจีน ก่อนจะยิงบอลลูนทิ้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสอดแนมเหนือน่านฟ้าของสหรัฐ ซึ่งฝ่ายจีนก็ไม่พอใจ เหตุการณ์นี้ทำให้ภูมิรัฐศาสตร์โลกสั่นคลอนอีกครั้ง แม้เบื้องต้นสถานการณ์ดูจะสงบจบลง

 แต่ สหรัฐและจีนไม่ได้ข้อขัดแย้งแค่เรื่องบอลลูกนี้เพียงอย่างเดียว ความบาดหมางราวลึกมาก่อนหน้านี้  

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เล่าถึง สงครามเทคโนโลยี (Tech War) ระหว่างสหรัฐและจีน ว่า สนค. ได้ประเมินถึงผลกระทบต่อการค้าการลงทุนหรือเศรษฐกิจของไทย ซึ่งTechWar อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยมีประเด็นที่ยังต้องจับตาและเฝ้าระวัง ทั้งด้านการส่งเสริมการย้ายฐานการผลิต(Reshoring)ของสหรัฐโดยใช้กลไกเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Foreign-Trade Zone – FTZ) ดึงดูดการลงทุนกลับไปยังสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อการ ลงทุนจากต่างประเทศในไทยในอนาคต  “เทควอร์” รอวันปะทุปมท้าการค้าไทย    ห่วง“บอลลูน”หลงทางพาศก.หลงทิศ

ความขัดแย้งในประเด็นไต้หวัน ซึ่งไต้หวันถือเป็นประเทศที่มีความสําคัญต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลก โดยในปี 2564 บริษัทสัญชาติไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์มากกว่า 60% ของโลก  เช่น บริษัท TSMC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่และเป็นผู้ผลิต มากกว่า 90% ของเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในโลก 

“หากสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น อาจเกิดเป็นสงครามย่อยด้านเทคโนโลยี โดยจะเร่งให้เกิดการแยกห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงการกีดกันทางเทคโนโลยี เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นเทคโนโลยี สําคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีน”

หากสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นนั้น อาจทําให้เกิดการหยุดชะงักของ อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงไทยที่เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นชิ้นส่วนสําคัญในอุตสาหกรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไทยอาจจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐมายังประเทศพันธมิตร และการย้ายหรือขยายฐานการผลิตออกจากจีนของธุรกิจข้ามชาติเพื่อลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกระหว่างสหรัฐและจีน

ในทางกลับกัน TechWarจะส่งผลกับไทย คือ กรณีสหรัฐมีการพัฒนาโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานให้มีความหลากหลายมากขึ้น จะเป็นโอกาสสําหรับไทยในการเป็นแหล่งผลิตทางเลือกที่สามารถสนับสนุนเป้าหมายของสหรัฐ

กรณีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐสอดคล้องกับนโยบายBCGของไทยซึ่งจะเป็นโอกาสทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำาสําคัญสําหรับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ

     การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงตามยุทธศาสตร์China Plus One หลังจากจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการที่ผู้ประกอบการต่างมุ่งปรับห่วงโซ่อุปทานของตนให้มีความยืดหยุ่น (Resilience) ด้วยการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศ ปลายทางที่ใกล้กับแหล่งผลิต จะเป็นโอกาสในการดึงดูดการลงทุนของไทย

     ทั้งนี้ สนค. มีมุมมองว่า ความขัดแย้งดังกล่าวอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบต่อการลงทุน การผลิต การค้า และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการกีดกันเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ชาติและ ประเทศพันธมิตรที่มีแนวโน้มแยกจากกัน

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งขั้วห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีสําคัญระหว่างสหรัฐและจีนโดย

การยึดโยงกับห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศผ่านการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลาง  การลงทุนในสหรัฐและจีน ตลอดจนประเทศที่อยู่ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ เช่น เม็กซิโก แคนาดา ลาตินอเมริกา ส่วนฝ่ายจีน เช่น ประเทศในเอเชีย และประเทศตามเส้นทาง BRI [ยุทธศาสตร์Belt and Road Initiativeของจีน]

      นอกจากนี้ ควรใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นช่องทางหนึ่งที่ไทยจะเชื่อมโยงกับจีน และ เชื่อมโยงกับประเทศพันธมิตรสําคัญของสหรัฐ  เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ได้ และ แนวทางการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานสําคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด กับสหรัฐ และประเทศพันธมิตรภายใต้กรอบ IPEF [กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิกIndo-Pacific Economic Framework ของสหรัฐ]

"ต้องไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไปเพื่อลดความผันผวนของห่วงโซ่อุปทานและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สหรัฐหรือจีนตั้งเป้าหมายขยายการผลิตในประเทศหรือReshoring รวมทั้งสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่" 

     พูนพงษ์  กล่าวอีกว่า สําหรับประเด็นสหรัฐยิงบอลลูนของจีนที่ลอยเข้าเหนือน่านฟ้าสหรัฐนั้น ทั้งสหรัฐและจีนยังไม่ได้ดําเนินการใดๆที่กระทบหรือเกี่ยวข้องกับการค้า/การลงทุนระหว่าง สองประเทศ โดย สนค. กําลังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากทั้งสองประเทศมีการดําเนินมาตรการใดเพิ่มเติม เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดกับเศรษฐกิจไทยต่อไป

สายลมที่พัดพาบอลลูนจีนไปโผล่ที่สหรัฐ ก็เหมือนความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ และปัจจัยด้านการค้าและการลงทุนโลก ซึ่งมีสัดส่วนต่อจีดีพีประเทศไทยถึง 70% การเข้าใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจะทำให้ปัญหาหนึ่งกลายเป็นโอกาสได้ในอีกบริบทหนึ่งได้