เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ ทำไม ‘น้ำตาล’ แพงสุด ในรอบ 11 ปี?

เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ ทำไม ‘น้ำตาล’ แพงสุด ในรอบ 11 ปี?

“น้ำตาล” สิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ และเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหาร-เครื่องดื่มหลายประเภท แต่ปัจจุบันกลับมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดพุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี สาเหตุมาจากอะไรและกระทบธุรกิจใดของไทยบ้าง

Key points

  • 3 อันดับประเทศที่ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดในโลก ได้แก่ บราซิล อินเดีย และไทยตามลำดับ
  • ในการผลิตน้ำตาลนั้น กากน้ำตาลที่ได้ ก็จะถูกใช้ทำเอทานอล ผสมกับเบนซิน ให้กลายเป็น “น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91”
  • “คาราบาวกรุ๊ป” หรือ CBG เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนน้ำตาลที่สูงขึ้น โดยกำไรสุทธิปี 2565 ลดลง 20.6% จากปี 2564


เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 สัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า (Futures) ส่งมอบวันที่ 22 เม.ย. 2566 พุ่งขึ้นแตะ 24.44 เซนต์ต่อปอนด์ สูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2555 จุดชนวนความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับวัตถุดิบสำคัญอย่าง "น้ำตาล" ซึ่งเป็นเครื่องปรุงคู่คนไทยมายาวนาน ไม่ว่าอยู่ในของหวาน เครื่องดื่มดับกระหาย และอาหารหลายชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม 

ยิ่งไปกว่านั้น น้ำตาลยังถูกใช้ผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตไฟฟ้า และเป็นเอทานอลสำหรับเชื้อเพลิงรถยนต์ด้วย จึงน่าสนใจว่าราคาน้ำตาลพุ่งแรงเพราะอะไร และกระทบธุรกิจไทยใดบ้าง

 

น้ำตาล ประโยชน์ที่มากกว่าแค่เครื่องปรุง

น้ำตาล ส่วนใหญ่ผลิตมาจาก “อ้อย” นอกจากถูกใช้เป็นเครื่องปรุงในอาหารเช่นที่ผู้คนรู้จักกันแล้ว ยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย ขณะที่น้ำตาลบางส่วนผลิตจากพืช หรือได้มาจากสัตว์ เช่น น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว น้ำผึ้ง ฯลฯ

เริ่มต้นจาก เมื่ออ้อยผ่านกระบวนการ “หีบอ้อย” ซึ่งเป็นการหนีบ หรือคั้นเอาน้ำอ้อยออกมาจากลำต้นด้วยเครื่องจักร น้ำอ้อยที่ได้ก็จะถูกเคี่ยวด้วยความร้อน และปั่นแยกเป็นผลึกน้ำตาลออกมา

อีกทั้งยังมีส่วนกากน้ำตาลออกมาด้วย เพื่อกลั่นเป็น “เอทานอล” ในการผสมกับน้ำมันเบนซิน กลายเป็น “น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91” ที่รู้จักกันนั่นเอง

ในขณะที่ “กากอ้อย” ที่ถูกคั้นเอาน้ำออกแล้ว หรือชานอ้อย จะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล และถูกใช้ผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ไปจนถึงกล่องชานอ้อย

 

เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ ทำไม ‘น้ำตาล’ แพงสุด ในรอบ 11 ปี?

- กากอ้อย ที่ได้จากกระบวนการหีบอ้อย สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล และถูกใช้ผลิตเป็นเยื่อกระดาษได้ (เครดิต: AFP) -

จะเห็นได้ว่า “อ้อย” มีประโยชน์หลายอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง มากกว่าเป็นเพียงแค่น้ำตาลบนจานอาหาร

 

สาเหตุที่น้ำตาลแพงที่สุดในรอบ 11 ปี

ราคาน้ำตาลในปัจจุบันพุ่งแตะระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่อง และทะลุแนวต้านเดิมที่ 23 เซนต์/ปอนด์ของปี 2555 และปี 2559 โดยมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญดังนี้

 

  • ปัจจัยแรก อุปทานน้ำตาลในโลกลดลง

ปัญหาน้ำตาลปัจจุบันที่พุ่งขึ้นแรง เกิดจาก “ฝนหลงฤดูกาล” ในอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยในเดือน ก.ย. และ ต.ค.ปีที่แล้ว อินเดียเผชิญฝนตกมากเกินไป ทำให้ผลผลิตอ้อยที่ออกมาลดน้อยลง

เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ ทำไม ‘น้ำตาล’ แพงสุด ในรอบ 11 ปี?

- น้ำตาลที่ได้มาจากอ้อยในโรงงานแปรรูปแห่งหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย (เครดิต: AFP) -

 

สำหรับ 3 อันดับประเทศที่ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดในโลก ล้วนอยู่บริเวณใกล้แถบเส้นศูนย์สูตร โดยข้อมูลปี 2564 จาก Worldstopexports ระบุว่า

อันดับหนึ่ง คือ บราซิล ส่งออกมูลค่า 9,200 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 36.7% ของการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก

อันดับสอง คือ อินเดีย ส่งออกมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 15.2% ของการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก

อันดับสามคือ ไทย ส่งออกมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6.1% ของการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก

ดังนั้น ถ้าหาก 3 ประเทศนี้ บราซิล อินเดีย และไทย ประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนหลงฤดูกาล และจำกัดการส่งออก ก็จะกระทบต่อราคาน้ำตาลทั่วโลกให้ถีบตัวสูงขึ้นได้

อาร์วินเดอร์ สิงห์ นันดา (Arvinder Singh Nanda) รองประธานบริษัทด้านการเงินของอินเดีย Master Capital Services ให้ข้อมูลว่า จากปัญหาฝนไม่ตกต้องฤดูกาลในอินเดีย ทำให้หลายโรงงานที่หีบอ้อยช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ค. จนกระทั่งฤดูฝนมาถึง ได้ขยับกำหนดการหีบอ้อยมาเร็วขึ้น รวมไปถึง 71 โรงงานในรัฐกรณาฏกะและ 190 โรงงานในรัฐมหาราษฏระได้หยุดการหีบอ้อย ซึ่งทำให้ผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดียลดลง

อโศก เจน (Ashok Jain) ประธานสมาคมการค้าน้ำตาลแห่งมุมไบ กล่าวว่า ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น เกิดจากการผลิตที่ลดลงในรัฐมหาราษฏระ แหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญของอินเดีย
รัฐมหาราษฏระ ผลิตน้ำตาล 10.38 ล้านตัน ณ วันที่ 26 มี.ค. น้อยกว่าตัวเลข 11.6 ล้านตันในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุกับสำนักข่าว Reuters ว่า การลดลงของการผลิตน้ำตาลในรัฐมหาราษฏระอย่างฮวบฮาบ หมายถึง จะไม่มีการส่งออกเพิ่มเติมอีก

ยิ่งไปกว่านั้น อ้อยเป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกนาน 10 เดือนถึง 1 ปี ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็ต้องรีบนำมาแปรรูป หรือคั้นออกเป็นน้ำในทันที ไม่สามารถเก็บไว้นาน ๆ ได้ 
ดังนั้น หากผลผลิตอ้อยลดน้อยลงก็จะกระทบต่ออุปทานน้ำตาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ ทำไม ‘น้ำตาล’ แพงสุด ในรอบ 11 ปี?

- รถบรรทุกเทต้นอ้อยเพื่อเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนหีบอ้อยที่โรงงานแห่งหนึ่งในอินเดีย (เครดิต: AFP) -

 

  • ปัจจัยที่สอง ดีมานด์สูงขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน และฤดูร้อน

จีนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ และมีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 2 ของโลก ใกล้เคียงกับอินเดีย ดังนั้นไม่ว่าจีนก้าวย่างไปทางใด ก็จะสะเทือนเศรษฐกิจไปทั่วโลก

การปรับนโยบายกลับทิศ 180 องศาของรัฐบาลจีนที่ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดได้ ทำให้ภาคธุรกิจในประเทศกลับมาเปิดดำเนินงานอีกครั้งและผู้บริโภคกลับมาใช้จ่าย ยอดความต้องการในผลิตภัณฑ์น้ำตาลจึงเพิ่มสูงขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทั่วโลกเข้าสู่ฤดูร้อน ความต้องการเครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม ไอศกรีมต่าง ๆ ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

 

เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ ทำไม ‘น้ำตาล’ แพงสุด ในรอบ 11 ปี?

- น้ำตาลก้อน (เครดิต: Freepik) -

 

  • ปัจจัยที่สาม ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น

เมื่อไม่นานนี้ กลุ่ม Opec+ องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก ซึ่งมีรัสเซียอยู่ในกลุ่มด้วย ได้ร่วมมือกันลดการผลิตน้ำมันลง ส่งผลให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นแตะระดับ 81 ดอลลาร์ในวันที่ 17 เม.ย. (ตามเวลาสหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้น 22.72% จากราคา 66 ดอลลาร์ในวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา

ในกระบวนการผลิตน้ำตาลนั้น กากน้ำตาลที่ได้จะถูกนำไปใช้ทำเอทานอล ผสมกับเบนซิน ให้กลายเป็น “น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91”

ด้วยเหตุนี้ หากราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงก็จะดึงดูดให้บรรดาผู้ผลิตน้ำตาล แปรรูปอ้อยเป็นเอทานอลมากขึ้น และผลิตน้ำตาลออกสู่ตลาดน้อยลง ราคาน้ำตาลจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ราคาน้ำตาลแพง กระทบธุรกิจไทยใดบ้าง

ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำตาลสูง คือ บริษัทผู้ผลิตน้ำตาล รวมไปถึงประเทศที่ส่งออกน้ำตาลเป็นหลักด้วย

ขณะที่ผู้ที่เสียประโยชน์จากราคาน้ำตาลสูง คือ ธุรกิจเครื่องดื่ม-อาหารหวาน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลในปริมาณสูง ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ยาชูกำลัง ชาเขียว ไอศกรีม และของหวาน 

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท “คาราบาวกรุ๊ป” หรือ CBG แม้มีรายได้จากการขายปี 2565 ที่เติบโต 10.7% ที่ 19,454.81 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิกลับลดลงถึง 20.6% เหลือ 2,286.20 ล้านบาท จากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 2,881 ล้านบาท บริษัทชี้แจงว่า กำไรที่ลดลงนี้มาจากต้นทุนค่าขนส่ง บรรจุภัณฑ์ และยังรวมไปถึงต้นทุนน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ น้ำตาลแพงยังส่งผลกระทบต่อร้านขายขนมไทยรายย่อย ทำให้ต้องแบกภาระต้นทุนหนักขึ้น หลังราคาน้ำตาลปรับขึ้นราคาอีกกิโลกรัมละ 1 บาทตั้งแต่ 1 ส.ค.ปีที่แล้ว

สรุป คือ “น้ำตาล” นอกจากจะเพิ่มพลังชีวิตแก่มนุษย์ในการทำงานแล้ว ยังถูกใช้เป็นพลังงานให้รถยนต์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ไปจนถึงเป็นวัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษ และกล่องชานอ้อยได้อีกด้วย

สาเหตุที่น้ำตาลแพงสูงสุดในรอบ 11 ปี มาจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอินเดียประสบปัญหาฝนตกผิดฤดูกาล ผลผลิตอ้อยจึงลดลง ความต้องการของหวานสูงขึ้นจากช่วงหน้าร้อนและการเปิดประเทศของจีน และการใช้อ้อยผลิตเป็นเอทานอลแทนน้ำตาลที่มากขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ราคาน้ำตาลถีบตัวสูง และส่งผลให้อาหาร-เครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาล ต้องปรับราคาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

อ้างอิง: reuters(1) reuters(2) reuters(3) cnbc worldstopexports financialexpress wsj thaisugarmillers กรุงเทพธุรกิจ set