กกพ. ชี้แจงโครงสร้างค่าไฟไทย ทำไมถึงแพงขึ้น
“คมกฤช” เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เผยสาเหตุที่ต้องขึ้นค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 เพราะยังค้างหนี้ กฟผ. ยืนยันสาเหตุหลักค่าไฟคือต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น
หลังจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. เคาะขึ้นค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ทั้งในส่วนที่เป็นบ้านอยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ โดยคิด ค่าเอฟที ในอัตราเดียวกัน ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่าไฟที่ขยับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดเป็นคำถามจากผู้ใช้ไฟฟ้าว่า ทำไมค่าไฟถึงได้แพงอย่างต่อเนื่องแบบนี้
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ได้แจงข้อมูลที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาค่าไฟไว้ว่า สาเหตุค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 20-30% และต้องนำเข้า LNG ราคาแพง ซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และตรงกับช่วงที่มีความต้องการ LNG มากในฤดูหนาวของทางยุโรปทำให้มีราคาแพง และต้องนำเข้า LNG ราคาแพงมาทดแทนปริมาณก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยที่ขาดหายไป
"สำนักงาน กกพ. ได้พยายามอย่างเต็มที่ ให้สามารถผ่านวิกฤติพลังงานนี้ไปให้ได้ เราได้มีมาตรการใช้น้ำมันในช่วงที่ราคาถูกกว่า LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าแทน LNG แต่โดยข้อจำกัดของระบบเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซเป็นหลัก ไม่สามารถใช้น้ำมันทดแทนได้ทั้งหมด ซึ่งทาง กกพ. ได้พิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้ามาตลอด ยืนยันว่า เชื้อเพลิงเป็นสาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าแพง ส่วนต้นทุนอื่นที่วิจารณ์กัน โดยสัดส่วนไม่มีผลมากนัก อย่างเช่น ถ่านหินราคาปรับเพิ่มไม่มากนัก ค่าความพร้อมจ่ายที่พูดกันไม่ได้เพิ่มมากนักยังอยู่ระดับเดิม"
เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ยังได้อธิบายถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย งวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ว่า โครงสร้างต้นทุนค่าไฟปัจจุบัน ค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ลำดับจากต้นทุนแพงที่สุดไปต้นทุนถูกที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย, ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย, ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย, ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์ต่อหน่วย, ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย และค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย
นายคมกฤช ได้ขยายความเพิ่มเติมถึงประเด็นค่าไฟฟ้าภาคประชาชนที่แพงกว่าค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมว่า ค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ดูเหมือนสูงกว่าค่าไฟฟ้านอกภาคครัวเรือน เกิดจากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันมีราคาแพงเป็นผลจากปลายปี 2565 เป็นช่วงที่ต้นทุนราคาก๊าซ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทน ในขณะที่ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำลดลงมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 2566) ซึ่งปกติหากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนจึงได้สั่งการให้ กกพ. คำนวณค่าไฟจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อน จึงเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ประชาชนได้อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย
"โดยค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย. 2566) เท่ากับ 5.33 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยรับภาระแทนประชาชนบางส่วน ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.- ส.ค. 2566 จะเหลืออัตราเดียวเฉลี่ยที่ 4.77 บาทต่อหน่วย อาจจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็เป็นอัตราที่ถูกลงจากงวดปัจจุบัน"
หลังเข้าสู่ปี 2566 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าราคาต้นทุนพลังงานมีการปรับตัวลดลง แต่การคำนวณค่าไฟของทาง สำนักงาน กกพ. ยังไม่สามารถปรับลดตามต้นทุนลงได้
"ทาง กกพ. ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณ ค่าเอฟที เราใช้สมมติฐานตัวเลขต้นทุนในปีก่อนหน้า ในที่นี้หมายถึงปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป ในขณะที่การประกาศค่าไฟฟ้าในงวดก่อนหน้านี้ แนวโน้มเชื้อเพลิงขึ้นมาตลอด กกพ. เองใช้สมมติฐานค่าเชื้อเพลิงต่ำมาตลอดทำให้ภาระหนี้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อราคาเชื้อเพลิงแท้จริงลดลง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำไปหักลบกลบหนี้ในการประกาศค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าในงวดต่อไป ดังนั้น ค่าไฟฟ้าที่ถูกลงจะทยอยปรับลดลง ยืนยันว่าไม่มีใครได้กำไรและขาดทุน เพราะว่ารอบสุดท้ายก็จะนำมาหักลบกลบหนี้กัน ในทางตรงกันข้ามขณะที่การทำประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเกินไปก็เป็นอันตรายและส่งผลกระทบต่อภาระหนี้สิน และสภาพคล่องของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เช่นกัน เราต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ด้วย หากสภาพคล่องกระทบกับเครดิตของ กฟผ. ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ จึงอยากให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ด้วยกัน"
แม้ค่าไฟฟ้าจะมีแนวโน้มลดลงในงวดที่ 3 ในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป แต่โดยภาพรวมแล้ว เลขาธิการสำนักงาน กกพ. แสดงความเห็นว่ายังคงต้องติดตามสถานการณ์พลังงานของโลกอย่างต่อเนื่อง
"เพราะยังมีปัจจัยเรื่องของฤดูกาลช่วงปลายปีมีความต้องการ LNG ในช่วงฤดูหนาว และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ยุติ ก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอาจจะมีผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิง ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนที่ต้องการให้การยืดการชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิง กฟผ. ออกไป ต้องมองว่า กฟผ. มีภาระเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำเป็นต้องรักษาวินัยการเงินการคลังภาครัฐ ภาระหนี้สาธารณะ และผลกระทบต่อเครดิตของประเทศ หลายฝ่ายมองว่าแนวโน้มของปริมาณก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยจะมีเพิ่มขึ้น และมีผลในเดือน ส.ค. 2566 กกพ. ก็มีการนำมาคำนวณในค่าไฟแล้ว ซึ่งต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต่ำลงจะเป็นช่วงปลายงวดของค่าไฟในงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 และจากสมมติฐานและค่าใช้จ่ายจริงจะถูกจ่ายคืนผ่านกลไกเอฟที"
นายคมกฤช กล่าวว่า ในส่วนประเด็นที่บ้านเรือน หรือผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟใช้เองนั้น ทาง กกพ. ยินดีสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียน ในภาคประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ติดตั้ง แต่ทั้งนี้ไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคาสูง เพราะจะทำให้ผู้ที่ไม่ได้ติดตั้งเสียประโยชน์ได้ เรายึดหลักการที่อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน ต้องไม่ให้ตกเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม ที่ประชาชนทุกคนอาจจะไม่ได้มีเงินมากพอในการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ดังนั้น อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนจะต้องไม่ไปกระทบกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ส่วนความกังวลในราคาค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น การร่วมมือกันประหยัดการใช้ไฟฟ้ายังเป็นแนวทางที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ ในขณะทาง สำนักงาน กกพ. ยังคงพยายามบริหารจัดการค่าไฟฟ้าอย่างเต็มที่เช่นกัน
"ช่วงวิกฤตการณ์การขาดแคลนก๊าซ ซึ่งเราไม่สามารถเดินเครื่องด้วยน้ำมันได้ทั้งหมด จนถึงขณะนี้ก็สามารถผ่านวิกฤติมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ก๊าซในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น ตลาดก๊าซธรรมชาติเริ่มเปิดมากขึ้น เราก็จะซื้อ LNG ได้มากขึ้น ทำให้ กกพ. บริหารได้ง่ายขึ้น อาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มที่ถูกลงมากขึ้น แต่ยังคงเชิญชวนให้ประชาชน ช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง”