‘สหรัฐ’ ประกาศหนุนเทคโนฯ ช่วยไทย ลดเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ทูตโกเดค” เผยสหรัฐทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด หนุนเทคโนโลยีชั้นสูง ช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทั้งสอง เตรียมประกาศแผนพลังงานแห่งชาติออกมาเร็ว ๆ นี้
นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าววันนี้ในงานสัมมนา Climate Tech Forum จัดโดยกรุงเทพธุรกิจและบีไอจี หัวข้อ "Global Overview : US's Challenges and Opportunities to Net Zero" ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเนีย กรุงเทพฯ ว่า ไทยกับสหรัฐได้มีการทำงานร่วมกันใกล้ชิดเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดในยุคของเรา นั่นคือ วิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั่วโลกรวมทั้งไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดพายุรุนแรงบ่อยขึ้นกว่าเดิม การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนเป็นไปได้ยากขึ้น ตามมาด้วยภัยแล้งและน้ำท่วมที่รุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลก็เพิ่มสูงขึ้นซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชนชายฝั่ง เมื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เราจะสามารถส่งต่อโลกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นให้แก่ลูกหลานของเราได้
สหรัฐทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานของไทยใกล้ชิด ซึ่งเตรียมประกาศแผนพลังงานแห่งชาติออกมาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะนำการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล มาใช้กับการลดการปล่อยคาร์บอน การกระจายศูนย์ การยกเลิกกฎระเบียบ และการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยตัวอย่างและความช่วยเหลือด้านเทคนิคของสหรัฐ
ขณะเดียวกัน สหรัฐยังทำงานกับบริษัทไทยที่มีวิสัยทัศน์ไกลอย่าง ปตท. ซึ่งเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านพลังงานด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานแบบใหม่อย่างยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่และพลังงานไฮโดรเจน ตลอดจนการแสวงหาหนทางลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตไฟฟ้าแบบดั้งเดิม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติ ผ่านการดักจับ การนำมาใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐมาช่วยไทยวางโครงสร้างทางกฎหมายและระเบียบทางการที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทูตโกเดคได้กล่าวถึง บริษัทผู้นำด้านนวัตกรรมของสหรัฐ อย่างบริษัท ดาว (Dow) ซึ่งไม่เพียงแสวงหาหนทางลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจหลักของตนเท่านั้น แต่ยังลงทุนในเทคโนโลยีใหม่และล้ำสมัย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง บริษัท ดาว กำลังทำให้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว กลายเป็นจริง หลังจากที่ไทยได้ส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวในการประชุมเอเปคเมื่อปีที่แล้ว และสหรัฐได้บรรจุแนวคิดนี้ไว้ในวาระการประชุมของเราในปีนี้เช่นกัน
ทูตโกเดคมองว่า กรุงเทพได้เดินหน้าการเป็นเมืองต้นแบบด้านเทคโนโลยีสะอาดอันชาญฉลาด ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไร ท่านอาจเคยเห็นท่านผู้ว่ากับผมเที่ยวกรุงเทพฯ มาแล้วเมื่อต้นปีนี้ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า อย่างเช่นรถยนต์ รถบัส เรือเฟอร์รี่ หรือแม้กระทั่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า สหรัฐฯ กำลังช่วยวางรากฐานสำหรับการขยายตัวการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ชาร์จไฟและการนำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและเชื่อถือได้ผ่านบริษัทต่าง ๆ อย่างเทสลา (Tesla)
แต่เราไม่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงลำพัง ฉะนั้น ผมถึงรู้สึกยินดีที่ได้เห็นผลงานที่ดีจากความร่วมมือกับบริษัทโตโยต้า ตามที่เราได้มีความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่กับรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่น
เมื่อปีที่แล้ว โตโยต้าลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท อีวีโลโม (EVLOMO) ของสหรัฐฯ และบริษัทในเครือของปตท. (บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR) เพื่อร่วมมือกันพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะสองล้อในประเทศไทย นอกจากนี้ สหรัฐและญี่ปุ่นยังช่วยไทยพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัยขึ้นและบูรณาการการใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership)
สหรัฐ มีบริษัทหลายแห่งที่เป็นตัวกลางเชื่อมความร่วมมือระหว่างกัน หนึ่งในนั้นคือบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส ซึ่งเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของความเป็นหุ้นส่วนสหรัฐ-ไทย และได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานในวันนี้
ทูตสหรัฐยกให้กลุ่ม BIG เป็นผู้นำที่แท้จริงในการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนโดยนำเทคโนโลยีของสหรัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์
เส้นทางธุรกิจของบีไอจีเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่มุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมด้วยการนำเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศมาใช้ ในโอกาสครบรอบ 35 ปีของบีไอจี
ทูตโกเดคกล่าวด้วยว่า ผู้นำทางธุรกิจที่มารวมตัวในงาน BIG ต่างมีเครื่องมือที่จำเป็นต่อการรับมือกับวิกฤติการณ์สภาพภูมิอากาศแล้ว ผมเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์ที่ปลายทางคือโลกที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าเดิมสำหรับคนรุ่นต่อไป ตลอดจนระบบเศรษฐกิจที่หลากหลายและมีประสิทธิผลบนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย