เปิด 3 ปัจจัยหลัก ‘ไทย’ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 โลก ส่งออกปลากระป๋อง

เปิด 3 ปัจจัยหลัก ‘ไทย’ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 โลก ส่งออกปลากระป๋อง

เมื่อ “ไทย” กลายเป็นประเทศส่งออกปลากระป๋องมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงจีน และมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีปัจจัยสำคัญใดบ้างที่ส่งเสริมยอดส่งออกปลากระป๋องของไทยนี้

Key points

  • เดือน ม.ค.-พ.ค. 2566 ไทยส่งออกทูน่ากระป๋อง ปริมาณกว่า 172,000 ตัน มูลค่าเกือบ 26,700 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 32.58% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั้งหมด
  • “สหรัฐ” ถือเป็นประเทศที่ไทยส่งออกปลากระป๋องมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องทั้งหมด
  • ปลาทูน่าส่งออกของไทย ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากปลาทูน่าที่จับได้ในทะเลไทย ไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาดโลก อีกทั้งไม่ค่อยเป็นที่นิยมในตลาดนอก


ปลากระป๋อง” อาหารสำเร็จรูปที่พกพาไปได้ทุกที่และเก็บได้นาน กลายเป็นสินค้าส่งออกระดับแถวหน้าของไทยและกำลังได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) ว่า ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีนเท่านั้น ส่วนในภูมิภาคอาเซียน ไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า ภาพรวมในปัจจุบันของอุตสาหกรรมปลากระป๋องไทยเป็นอย่างไร และมีปัจจัยหนุนอะไรที่ทำให้ไทยขึ้นสู่ผู้ส่งออกปลากระป๋องอันดับ 1 ของอาเซียน

เปิด 3 ปัจจัยหลัก ‘ไทย’ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 โลก ส่งออกปลากระป๋อง - ปลาทูน่ากระป๋องน่าทาน (เครดิต: Shutterstock) -

  • ภาพรวมอุตสาหกรรมปลากระป๋องไทย

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) ระบุว่า มูลค่าปลากระป๋องและแปรรูปที่ไทยส่งออกตลาดโลก คือ 1,145.3 ล้านดอลลาร์หรือราว 39,000 ล้านบาท และเป็นการส่งออกไปตลาดคู่เจรจาการค้าเสรี (FTA) มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์หรือราว 12,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 15.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดย “ปลาทูน่ากระป๋องมีสัดส่วนมากที่สุดที่ 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ค้า FTA

เมื่อเจาะเข้าไปที่ทูน่ากระป๋อง จากข้อมูลของกลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมงของเดือน ม.ค.-พ.ค. 2566 ระบุว่า ไทยส่งออกทูน่ากระป๋อง ปริมาณ 172,016.93 ตัน มูลค่า 26,698.09 ล้านบาท  ซึ่งเป็นสัดส่วน 32.58% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั้งหมด

สำหรับ 5 ตลาดส่งออกทูน่ากระป๋องแห่งสำคัญของไทย เรียงตามสัดส่วน % ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋อง มีดังนี้

กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 23.52%

สหรัฐ 20.00%

กลุ่มแอฟริกา 13.01%

ออสเตรเลีย 8.83%

และญี่ปุ่น 8.83%

  • ทูน่าส่งออกของไทย ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า

สำหรับปลาทูน่าที่ไทยใช้ทำปลากระป๋องนั้น มาจากการทำประมงแถวอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่เนื่องจากปลาทูน่าที่จับได้ มีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาดโลก อีกทั้งปลาทูน่าส่วนใหญ่ที่จับได้ในไทย มักเป็นปลาทูน่าผิวน้ำ อย่างปลาโอดำ ปลาโอลายซึ่งไม่เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศมากนัก

ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้าปลาทูน่าจากต่างประเทศ เพื่อแปรรูปเป็นปลากระป๋องส่งออกต่างประเทศแทน

ปลาทูน่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna) ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna) ปลาทูน่าครีบยาว (Longfin Tuna) ปลาทูน่าตาโต (Bigeye Tuna)  ซึ่งเป็นกลุ่มปลาทูน่าน้ำลึก ไม่สามารถจับได้ในทะเลไทย และกระจายตัวตามมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย

เปิด 3 ปัจจัยหลัก ‘ไทย’ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 โลก ส่งออกปลากระป๋อง - ปลาทูน่าในทะเล (เครดิต: Shutterstock) -

สำหรับปลาทูน่าสด และแช่เย็นแช่แข็งที่ไทยนำเข้า ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) มีปริมาณ 274,716.53 ตัน มูลค่า 17,609.66 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 28.10% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าประมงทั้งหมด

เปิด 3 ปัจจัยหลัก ‘ไทย’ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 โลก ส่งออกปลากระป๋อง

- เนื้อปลาทูน่าสด (เครดิต: Shutterstock) -

สำหรับ 5 ตลาดนำเข้าที่สำคัญของไทย เรียงตามสัดส่วน % ของมูลค่าการนำเข้าทูน่าสด และแช่เย็นแช่แข็ง มีดังนี้

ไต้หวัน 18.52%

มัลดีฟส์ 14.09%

เกาหลีใต้ 10.16%

นาอูรู 9.11%

ไมโครนีเซีย 7.65%

นอกจากนี้ โรงงานผลิตปลากระป๋องของไทยมักจะตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร เพื่อสะดวกต่อการรับสินค้าปลาจากทะเล

3 ปัจจัยหนุนส่งออกปลากระป๋องไทย

จากกรณีล่าสุดที่ไทยขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกปลากระป๋องมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน มี 3 ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังนี้

  • 1. ชาวอเมริกัน ต้องการลดต้นทุนค่าอาหาร

“สหรัฐ” ถือเป็นประเทศที่ไทยส่งออกปลากระป๋องมากที่สุดในโลก โดยช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2566 ปริมาณทูน่ากระป๋องที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ คือ 32,288.47 ตัน มูลค่า 5,338.63 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องทั้งหมด ดังนั้น ผู้บริโภคในสหรัฐจึงมีน้ำหนักสำคัญต่อยอดการส่งออกของไทย

ข้อมูลจาก ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยว่า ด้วยปัญหาค่าครองชีพที่สูงในสหรัฐที่ผ่านมา จึงทำให้คนอเมริกันหันมาซื้อปลากระป๋องแทนเนื้อหมู เนื้อไก่จากตลาด แทนการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย อีกทั้งปลากระป๋องยังพกพาง่าย ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน

  • 2. คุณภาพปลากระป๋องไทยดีระดับโลก

สำหรับกระบวนการผลิตปลากระป๋องไทย ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกทั้งด้านคุณภาพและสุขอนามัย จนทำให้ไทยสามารถมีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ นำมาซึ่งการลดต้นทุนทางภาษีศุลกากร และทำให้ราคาขายปลีกในต่างประเทศลดลงตามไปด้วย ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของปลากระป๋องไทย

ปัจจุบัน ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้า 18 ประเทศ โดยคู่ค้า 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศในอาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปบางส่วนให้ไทย

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ไทยมีศักยภาพการผลิตปลากระป๋องและแปรรูปจนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และไทยมีความตกลงการค้าเสรี จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปของไทยขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อขยายการส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ”

  • 3. ปัจจัยแวดล้อมช่วยลดต้นทุนปลากระป๋องไทย

ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 เริ่มค่อย ๆ จางหาย กลายเป็นโรคประจำถิ่นแทน สงครามรัสเซียกับยูเครนอยู่ในระดับทรงตัว และเงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มคลายตัว จึงกลายเป็นปัจจัยหนุนให้ต้นทุนต่าง ๆ ในการผลิตปลากระป๋องปรับลดลง แบ่งออกเป็นดังนี้

- ค่าขนส่งที่ลดลง แต่เดิมนั้นความเข้มงวดการตรวจเชื้อโควิด-19 ในสินค้านำเข้าและการปิดพรมแดน ทำให้ต้นทุนการขนส่งพุ่งสูง โดยสามารถดูได้จากดัชนีค่าระวางเรือเทกอง (BDI) ที่ขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ราว 5,600 จุด เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 แต่ในปัจจุบัน การผ่อนคลายด้านการคุมเข้มโควิด ทำให้ค่าขนส่งมีราคาลดลงเรื่อย ๆ สู่ระดับปกติ ค่าระวางเรือเทกองปรับลดลงมาที่ 1,000 จุดในปัจจุบัน

เปิด 3 ปัจจัยหลัก ‘ไทย’ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 โลก ส่งออกปลากระป๋อง - ค่าระวางเรือที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง (เครดิต: TradingView) -

- ราคาน้ำมัน ค่าน้ำมันนับเป็นต้นทุนหลักในการขนส่งสินค้า และขับเคลื่อนเรือประมงหาปลา โดยราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ทำสถิติทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อช่วงเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว แต่เมื่อสงครามรัสเซียกับยูเครนคลี่คลายลง และธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเชิงรุกเพื่อกดเงินเฟ้อ ส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก โดยเฉพาะน้ำมันปรับตัวลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับราคา 75.25 ดอลลาร์ /บาร์เรล

- ราคาแผ่นเหล็ก ในการผลิตปลากระป๋องขึ้นมา ใช้แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก (Tin Plate) และแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม (Tin Free Steel) ซึ่งนำเข้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่

ช่วงที่สงครามรัสเซียกับยูเครนปะทุตอนแรก ทำให้ราคาเหล็กทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยตัวเลขดัชนีเหล็กจีนเคยขึ้นสูงมากกว่า 7,800 หยวนต่อตัน แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์สงครามที่คลี่คลายลง และจำกัดกรอบอยู่เฉพาะแผ่นดินยูเครน ทำให้ดัชนีเหล็กจีนลดลงเหลือราว 7,150 หยวนต่อตัน

นอกจากนี้ “ค่าเงินบาทอ่อน” ของไทยที่ผ่านมา ช่วยให้สินค้าส่งออกของไทยอย่างปลากระป๋อง มีราคาถูกลงในสายตาประเทศนำเข้าด้วย โดยเฉพาะในสหรัฐ

ดังนั้น จากปัจจัยสำคัญ 3 ข้อดังกล่าว ชาวอเมริกันหันมาลดต้นทุนอาหารด้วยการบริโภคปลากระป๋องมากขึ้น คุณภาพปลากระป๋องไทยเป็นที่ยอมรับจากสายตาชาวโลก และต้นทุนการผลิตปลากระป๋องไทยต่ำลง จึงเป็นแรงหนุนให้ไทยมียอดการส่งออกปลากระป๋องมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัจจัยท้าทายการส่งออกที่ควรรับมือ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินบาทกับนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือแม้แต่ “ราคาปลาทูน่า” โดยจากข้อมูลของบริษัทไทยยูเนี่ยน ยักษ์ใหญ่ส่งออกปลากระป๋อง ระบุว่า แม้ราคาปลาทูน่าท้องแถบ ที่มักทำเป็นปลากระป๋อง ใน 3 เดือนล่าสุด (เม.ย.- มิ.ย.) จะทรงตัวที่ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อตัน แต่แนวโน้มราคาในอนาคต อาจสูงขึ้นได้จากปัญหาเอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิในน้ำทะเลอุ่นขึ้นและทำให้ปริมาณปลาที่ชาวประมงจับได้ลดน้อยลง

นอกจากนั้น นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของว่าที่รัฐบาลใหม่ อาจทำให้ต้นทุนในส่วนพนักงานทำปลากระป๋องไทยสูงขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของนโยบายว่าเป็นการปรับขึ้นเชิงขั้นบันได เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัว หรือเป็นการปรับขึ้นทันที โดยรายละเอียดอาจต้องหารือกับภาครัฐในแผนรองรับนี้

อ้างอิง: dtnfisheriesprachachatthaitunainvestorrepositorysteelhome