เศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อทรุด แล้วทำไมยังต้องขึ้นดอกเบี้ย?
ที่ผ่านมา กนง. อาจห่วงว่า "ดอกเบี้ย" ที่ต่ำเกินไปจะยิ่งสร้างความไม่มีเสถียรภาพในระบบการเงินไทย แต่ขณะเดียวกัน ก็ควรทบทวนว่า "เศรษฐกิจไทย" พร้อมหรือยังกับดอกเบี้ยที่สูงมากๆ ถ้ายังไม่พร้อม "การหักดิบ” ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง อาจทำร้ายไทยหนักกว่าเดิม!
แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะส่งสัญญาณชัดเจนว่า ดอกเบี้ยนโยบายไทยเข้าใกล้จุดสมดุลแล้ว ซึ่งการส่งสัญญาณเช่นนี้ หากให้แปลความแบบชัดๆ ก็มองได้ว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียงครั้งเดียว คือ ในการประชุมนัดถัดไป (27 ก.ย.) แต่จากตัวเลขเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งขยายตัวเพียง 0.38% เรียกว่าใกล้จะติดลบเต็มทน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามกันว่า ถึงเวลาหรือยังที่ กนง. จะ “หยุด” ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ความจริงนักเศรษฐศาสตร์ไทยเริ่มตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ดอกเบี้ยนโยบายไทยยังควรที่จะขึ้นต่อหรือไม่ เพราะถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลายๆ ตัว เหมือนจะไม่เอื้อให้ดอกเบี้ยขยับขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งแถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด พบว่า ตัวเลขหลายๆ ตัวสะท้อนการแผ่วลงอย่างชัดเจน โดยการบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงเกือบทุกหมวด
เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องจักร อุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายอิฐบล็อกและพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ขณะที่รายได้เกษตรกรหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งราคายางพาราหดตัวจากอุปสงค์ที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาปาล์มน้ำมันหดตัวจากผลของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาสินค้าปศุสัตว์ก็หดตัวตามราคาเนื้อหมู เนื่องจากอุปทานเพิ่มขึ้น ตอกย้ำกลับมาที่เงินเฟ้อล่าสุดซึ่งขยายตัวเพียง 0.38% ชี้ให้เห็นว่า การส่งผ่านราคาต้นทุนสู่ราคาสินค้าอย่างที่ ธปท. เคยกังวลไว้ไม่ได้น่าห่วงอย่างที่คิด
นอกจากนี้ประเด็นที่ทำให้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามกับ กนง. ดังๆ คือ ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจที่อยู่ระดับสูง แถมเศรษฐกิจก็ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เหตุใด กนง. จึงยัง "ขึ้นดอกเบี้ย" ต่อเนื่อง หากจะบอกว่า "กังวล" ถ้าดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ต่ำกว่าดอกเบี้ยต่างประเทศค่อนข้างมาก อาจทำให้ “เงินบาท” อ่อนค่ามากเกินไป แต่ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยไม่ใช่หรือ เพราะถ้าเงินบาทอ่อนในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ก็น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออก
โดยสรุปแล้ว เราคงต้องหันมาดูตัวเองว่า เศรษฐกิจไทยพร้อมแค่ไหนกับดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง เข้าใจว่า กนง. ห่วงว่าดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปจะยิ่งสร้างความไม่มีเสถียรภาพในระบบการเงินไทย แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องทบทวนตัวเองด้วยว่า เศรษฐกิจไทยพร้อมหรือยังกับดอกเบี้ยที่สูงมากๆ ถ้ายังไม่พร้อม "การหักดิบ” ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง อาจกลายเป็นการทำร้ายเศรษฐกิจไทยช้ำหนักกว่าเดิม!