‘แบงก์ชาติ’ เจองานหนัก เมื่อ ‘เศรษฐา’ ควบ รมว.คลัง
การนั่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง ของ “เศรษฐา” สะท้อนภาพชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้มองการปั๊มชีพเศรษฐกิจเป็นภารกิจหลัก แต่คนในแวดวงเศรษฐกิจห่วงว่า ไหวเหรอ? ไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถ แต่ตำแหน่ง รมว.คลัง มีภารกิจเยอะไม่แพ้นายกฯ พร้อมจับตา "เงินดิจิทัล 10,000 บาท"
ทันทีที่มีชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทบทุกคนในแวดวงเศรษฐกิจต่างตั้งคำถาม แสดงความเป็นห่วงว่า “ไหวเหรอ?” ...ที่ถามเช่นนั้นไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความสามารถเพียงพอกับตำแหน่งนี้ แต่เป็นเพราะตำแหน่ง รมว.คลัง มีภารกิจเยอะไม่ต่างจากนายกรัฐมนตรี เพราะต้องนั่งเป็นประธานบอร์ดอีกหลายชุด
ดังนั้นที่ผ่านมาตำแหน่งนี้จึงเป็นตำแหน่งซึ่งถูกนั่งควบโดยรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ การที่ “เศรษฐา” นั่งควบ “รมว.คลัง” ด้วยตัวเอง จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบกว่า 40 ปี นับจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของไทย
อย่างไรก็ตาม การนั่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง ของ “เศรษฐา” ถือเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้มองการปั๊มชีพเศรษฐกิจเป็นภารกิจหลักอันดับแรกๆ และ “เศรษฐา” ก็ประกาศไว้ชัดเจนว่า ศัตรูของเขา คือ ความยากจนและความเสมอภาคของประชาชน ดังนั้นการที่เขาจะนั่งควบ รมว.คลัง ด้วยตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไม่มีกระทรวงใดที่มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากเท่ากระทรวงการคลังแล้ว
หากเขาต้องการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ กระทรวงที่ดูแลเรื่อง “ภาษี” จึงเหมาะสมที่สุด ที่สำคัญ ภารกิจการผลักดัน"เงินดิจิทัล 10,000 บาท" ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ยังต้องมาจากกระทรวงนี้เป็นหลักด้วย
แต่การนั่ง รมว.คลัง ของ “เศรษฐา” มีอยู่องค์กรหนึ่งที่น่าจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ”
...ต้องบอกก่อนว่า แบงก์ชาติ มีสถานะเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ หน้าที่หลัก คือ ดูแลด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน ผ่านการขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย โดยที่ไม่ต้องขอรัฐบาลหรือกระทรวงการคลัง รวมทั้งการดูแลความเรียบร้อยของสถาบันการเงิน เพื่อไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ แบงก์ชาติ จะเป็นองค์กรอิสระแต่การทำงานก็ต้องประสานใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง และหลายภารกิจที่แบงก์ชาติดูแลในปัจจุบัน ก็ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังด้วย
ในขณะที่ “เศรษฐา” มาจากนักธุรกิจ มีมุมคิดสายพิราบ สิ่งที่เขาอยากเห็นคือเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญเขายังมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า อสังหาฯ ไม่ถูกกับ “ดอกเบี้ยสูง” และ ไม่ถูกกับมาตรการ “แอลทีวี”
หากย้อนดูมุมคิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยโดยเฉพาะช่วงโควิด เห็นชัดเจนว่าเขามองแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยน้อยเกินไป ...ยิ่งถ้ากลับมาดูเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน จะเห็นว่าเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด ชะลอลงอย่างชัดเจน แถมเงินเฟ้อก็ไม่ใช่ปัญหา แต่แบงก์ชาติยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ดังนั้นการมาของ “เศรษฐา” โดยเฉพาะนั่งคุม รมว.คลัง ด้วยตัวเองแบบนี้แล้ว ก็คงทำให้คนในแบงก์ชาติสะดุ้งไม่น้อย
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ "นโยบายแจกเงินดิจิทัล" 10,000 บาท ซึ่งพรรคเพื่อไทยตั้งใจว่าจะออกเป็น Utility Token ให้สามารถนำไปจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ตามสะดวก นั่นหมายความว่า Token นี้ต้องเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Mean of Payment) ได้ตามปกติ ซึ่งขัดต่อหลักการของแบงก์ชาติในช่วงก่อนหน้านี้ที่คัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน เรื่องนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้คนในแบงก์ชาติเองก็หนักใจอยู่ไม่น้อย!