หลอกดิจิทัล มาก่อน เงินดิจิทัล | บวร ปภัสราทร
ยังอีกนานที่จะเข้าใกล้ความเป็นไปได้ที่จะได้รับแจก “เงินดิจิทัล” การหลอกลวงผ่านช่องทางดิจิทัลก็ปรากฏให้เห็นกันแล้ว ใครที่งูๆ ปลาๆ ทางดิจิทัลก็อาจมโนว่าเป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนี้
ความเข้าใจที่ไม่กระจ่างและระดับความแตกต่างในความเข้าใจนี่เอง ที่เป็นโอกาสของการหลอกลวงผ่านช่องทางดิจิทัลขึ้นมาได้
ยิ่งอธิบายให้ดูใหม่แปลกแตกต่างไปจากที่ผู้คนคุ้นเคยมากเท่าใด ความเข้าใจที่แตกต่างไปจากที่คนคิดเรื่องนั้นก็มีมากขึ้นไปตามนั้น ยิ่งเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเงินทองซึ่งอยู่ใกล้กับความอยากได้อยากมี ยิ่งเพิ่มโอกาสให้คนร้ายใช้ความไม่เข้าใจนี้ มาสร้างการหลอกลวงให้เกิดขึ้นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
อยากริเริ่มเรื่องเงินทองผ่านช่องทางดิจิทัล แล้วไม่อยากให้การริเริ่มนั้นกลายเป็นช่องทางให้คนไม่ดีมาหลอกเงินไปจากผู้คน ขอให้อธิบายให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร ใช้จ่ายกันได้อย่างไร มีเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนงานนั้นเป็นอย่างไร จะมีกำหนดการความก้าวหน้าของโครงการตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งวันที่ผู้คนได้ใช้นั้นเป็นอย่างไร
การหลอกลวงทางดิจิทัล ไม่ต่างไปจากไปจากการหลอกลวงที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม ถ้าขั้นตอนการติดต่อราชการสลับซับซ้อนจนผู้คนงงงวย ใครๆ ก็อยากให้งานที่งงกลายเป็นงานที่ง่าย อยากน้อยก็หาใครมาเป็นนายหน้าจัดการให้ แย่ที่สุดคือเสียเงินเสียทองให้คนร้ายที่หลอกลวงว่าจะช่วยจัดการให้
แต่การหลอกลวงดิจิทัลกระทำได้ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่า แก๊งดิจิทัลในอินเดียข้ามมหาสมุทรไปหลอกเงินคนเฒ่าคนแก่ที่อเมริกาไปนับล้าน แก๊งนอกพรมแดนบ้านเราก็มาหลอกเงินคนบ้านเราไปไม่น้อย
หลอกได้กว้างขวาง หลอกแล้วได้เงินทองมากมาย ใครมาไล่จับก็ขยับไปที่ใหม่ ทำให้ภัยจากการหลอกลวงทางดิจิทัลไม่ได้ลดลง ในทางตรงข้ามกลับเพิ่มมากขึ้นตามขีดความสามารถใหม่ๆ ของเทคโนโลยี
โอกาสมีเพียงการทำความเข้าใจกับผู้คนให้มีภูมิต้านทานที่ดีในเรื่องนี้ ซึ่งทำได้โดยทำให้ทุกขั้นตอนมีตรรกอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล พร้อมกับแนะนำหนทางรับมือการหลอกลวงนั้นให้ทราบโดยทั่วกัน
จากข้อมูลการหลอกลวงในสหรัฐ พบว่าแหล่งสำคัญของการหลอกลวงทางดิจิทัลแตกต่างไปตามกลุ่มอายุ ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน โซเชียลมีเดียและเว็บเป็นแหล่งหลักในการหลอกลวงทางดิจิทัล ในขณะที่คนสูงอายุจะถูกหลอกลวงทางโทรศัพท์และเว็บเป็นหลัก
FCC หรือ กสทช.ของสหรัฐ จึงกำหนดให้ใครที่จะค้าขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ ต้องได้รับการยอมรับอนุญาตจากลูกค้าผ่านช่องทางสื่อสารทางอื่น ก่อนที่จะติดต่อโทรศัพท์ไปเสนอบริการหรือสินค้าใดๆ กับลูกค้า
เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ก่อนว่าเป็นคนที่ตนเองประสงค์จะติดต่อด้วย ควบคู่กับการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มีหน้าที่พิสูจน์ตัวตนของ Caller ID ให้ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่ปลอมไปเป็นหมายเลขขององค์กรอื่นๆ เพื่อจะได้ลดโอกาสที่จะมีการสวมรอยมาหลอกลวงได้ง่ายๆ เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ
แต่เดิมคิดกันว่า คนที่ไม่คุ้นเคยกับดิจิทัลจะถูกหลอกลวงง่ายที่สุด แต่ในสหรัฐกลับพบว่ากลุ่มอายุที่ถูกหลอกมากที่สุดกลับกลายเป็นวัยทำงานอายุระหว่าง 30-39 ปี ใกล้เคียงกับคนสูงอายุในช่วงอายุ 60-69 ปี
ดังนั้น คนในวัยที่หน้าที่การงานกำลังก้าวหน้า จงอย่าประมาทว่าจะไม่กลายเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางดิจิทัล วัยนี้เงินทองเริ่มเต็มกระเป๋า การจับจ่ายและการลงทุนออนไลน์จึงกลายเป็นโอกาสในการหลอกลวงที่กระทำกับคนในวัยนี้
ในขณะที่ลูกหลานที่ว่องไวในด้านดิจิทัล ควรจะได้ให้การช่วยเหลือในด้านทักษะดิจิทัลกับญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยที่ยังคงจริงจังอยู่กับดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ยังใช้ไลน์ ใช้โมบายเปย์เมนต์ ซึ่งพบว่าการหลอกลวงจำนวนมากมาในรูปแบบที่เสมือนกำลังให้ความช่วยเหลือผู้ใหญ่ในการใช้งานดิจิทัล แล้วฉวยโอกาสติดตั้งแอปดูดข้อมูลส่วนตัวบ้าง แอปควบคุมเครื่องผ่านอินเทอร์เน็ตบ้าง
บริการก้าวไกลไปสู่ดิจิทัลเป็นเรื่องดี แต่การก้าวไปนั้นต้องไม่ทำให้คนบางคนต้องถูกหลอกลวงตั้งแต่ยังไม่มีบริการดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นจริง
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]