ความสับสนระหว่าง “กระเป๋าเงินดิจิทัล” และ “เงินดิจิทัล”
หลังจากการเลือกตั้งไปกว่า 100 วัน ในที่สุดเราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมนโยบายเด่น "ดิจิทัลวอลเล็ต" หรือ "กระเป๋าเงินดิจิทัล" ที่เคยประกาศไว้ช่วงหาเสียง ...คนทั่วไปอาจยังสับสนกับคำว่า “กระเป๋าเงินดิจิทัล กับ เงินดิจิทัล”
หลังจากการเลือกตั้งไปกว่า 100 วัน ในที่สุดเราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมกับนโยบายเด่น "ดิจิทัลวอลเล็ต" หรือ "กระเป๋าเงินดิจิทัล" ที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง
สื่อหลายแห่งหรือแม้แต่นักการเมืองต่างก็ใช้คำพูดที่แตกต่างกัน บ้างก็บอกว่าแจก "เงินดิจิทัล" บ้างก็เรียกว่า แจก "กระเป๋าเงินดิจิทัล" แต่เสมือนว่าทุกคนเข้าใจคล้ายๆ กันว่าจะได้เงินจำนวน 10,000 บาท ที่อยู่ในรูปของดิจิทัล โดยทีมพรรคเพื่อไทยก็บอกว่า จะใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน ที่มีความปลอดภัยสูงมาช่วยพัฒนาระบบดังกล่าว
คนทั่วไปก็อาจจะยังสับสนกับคำว่า “กระเป๋าเงินดิจิทัล กับ เงินดิจิทัล” ทั้งๆ ที่สองคำนี้แตกต่างกันมากพอควร ถ้าเราลองนึกถึงกระเป๋าเงินปกติที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำ ก็คงพอเข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์ที่เราใช้ในการเก็บเงินสด บัตรเครดิต บัตรโดยสารรถ หรือบัตรประจำตัวต่างๆ หรือแม้แต่คูปอง ซึ่งเงินสดจะเอาเงินสกุลอะไรเข้ามาใส่ก็ได้ หรือกระเป๋าเงินบางคนอาจไม่มีเงินสดเลยก็ได้ เพราะกระเป๋าเงินไม่ใช่เงินสด
ดังนั้นเมื่อพูดถึง กระเป๋าเงินดิจิทัล มันก็คือ แอปบนมือถือ หรือซอฟต์แวร์บนเว็บ หรือแม้แต่อาจเป็นแอปในอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ที่เราสามารถเก็บข้อมูลเงินที่อยู่ในบัญชี เงินดิจิทัล บัตรเครดิตดิจิทัล คูปองดิจิทัล ตั๋วการแสดงดิจิทัล หรือแม้แต่บัตรประจำตัวต่างๆ ที่อยู่ในรูปของดิจิทัลได้ ซึ่งกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้ก็จะช่วยให้เราสามารถทำธุรกรรมต่างๆ กับข้อมูลดิจิทัลที่เก็บอยู่ได้ เช่น การชำระเงินหรือโอนผ่านเทคโนโลยี QR Code หรือ NFC
กระเป๋าเงินดิจิทัล มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งระบบแบบเปิดที่ออกโดยสถาบันการเงิน แล้วสามารถนำเงินในบัญชีไปใช้ทำธุรกรรมได้ทั่วไป เช่น แอปเป๋าตัง หรือแอปธนาคารต่างๆ หรือระบบแบบกึ่งปิดที่ใช้ได้ครอบคลุมร้านค้าและสถานที่เฉพาะ เช่น แอป True Wallet หรืออาจเป็นระบบแบบปิดที่ใช้เฉพาะร้านค้าใดร้านหนึ่งเท่านั้นเช่น แอป. สตาร์บัคที่เป็น กระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ให้เราใช้ได้ในร้านสตาร์บัคเท่านั้น นอกจากนี้ก็อาจมีกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับคริปโทฯ ที่สามารถเก็บและทำธุรกรรมกับเงินคริปโทฯ สกุลต่างๆ ได้เช่น Coinbase Wallet
หลักการทำงานที่สำคัญของกระเป๋าเงินดิจิทัลคือ จะต้องมีการลงทะเบียนยืนยันการใช้งาน และจะต้องสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้งานอย่างถูกต้อง จะต้องทำธุรกรรมต่างๆ ได้ เช่น การชำระเงินหรือการแสดงคูปองดิจิทัล ต้องสามารถแสดงข้อมูลการเงินหรือข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในกระเป๋าเงินดิจิทัล และเมื่อมีการทำธุรกรรมใดๆ แม้ไม่ได้ใช้แอปนั้นทำเองก็อาจต้องมีการแจ้งเตือนมา เช่น การแจ้งว่ามีการโอนเงินเข้าหรือออก และจำเป็นต้องสามารถดูประวัติการทำธุรกรรมย้อนหลัง หรือแม้แต่จะใส่ข้อมูลของผู้ใช้งาน เช่น ที่อยู่หรือตำแหน่งของการทำธุรกรรมก็อาจสามารถทำได้
ความยากของการทำกระเป๋าเงินดิจิทัลคือ การให้มีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน การพิสูจน์ตัวตน การทำให้ระบบรองรับผู้ใช้จำนวนมากให้ได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้ใช้ธุรกรรมพร้อมกันจำนวนมหาศาล นอกจากนี้จะต้องมั่นใจได้ว่าระบบมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับผู้ใช้งานซึ่งอาจต้องใช้เทคโนโลยีในการยืนยันตัวตนเพิ่มเติม เช่นการสแกนใบหน้า เป็นต้น
ข้อดีของกระเป๋าเงินดิจิทัลคือ ความสะดวกสบายไม่ต้องพกพาบัตรหลายใบ สามารถที่จะทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีการเงิน และมีความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นจากการมีรหัสผ่านและระบบการเตือนภัยต่างๆ เมื่อมีการใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถที่จะใช้ชำระเงินได้กว้างขวาง โดยกระเป๋าเงินดิจิทัลบางแอปสามารถชำระเงินได้ในหลายประเทศ
แต่การใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลก็ต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ต้องมีความคล่องตัวในการใช้เทคโนโลยีจึงจะมั่นใจในความปลอดภัย และโดยมากก็อาจต้องมีสมาร์ตโฟนในการใช้งาน
กระเป๋าเงินดิจิทัลที่เป็นที่นิยมทั่วโลกก็มีหลายแอป เช่น Apple Wallet, Google Wallet, PayPal และ AliPay ส่วนในบ้านเราก็มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากโดยเฉพาะแอปของธนาคารต่างๆ นอกจากนี้ยังมี “แอปเป๋าตัง” ที่สามารถใช้งานได้สารพัดบริการตั้งแต่การชำระเงิน การรับคูปองดิจิทัลโครงการภาครัฐ หรือแม้แต่การซื้อและเก็บสลากกินแบ่งของรัฐบาล อีกทั้งยังมีกระเป๋าเงินดิจิทัลแบบกึ่งปิดอย่าง True Wallet และ Rabbit Pay ด้วย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในเรื่องของการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลในขณะนี้ และคนไทยส่วนมากก็ใช้เป็น และมีความคล่องตัวจากความสะดวกสบายของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอินเทอร์เน็ตในแทบทุกพื้นที่ จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากหันมาชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่อยู่ในแอปต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันบ้านเราแทบจะมีอยู่ในทุกระบบแม้แต่ในนาฬิกาอัจฉริยะก็มีกระเป๋าเงินดิจิทัลที่สามารถเก็บข้อมูลการเงินและบัตรเครดิต และสามารถชำระเงินได้ เช่น ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าด้วยการแตะนาฬิกาผ่านประตูเข้า เป็นต้น
ดังนั้นการทำกระเป๋าเงินดิจิทัลใหม่อาจแทบไม่มีความจำเป็น เพราะเรามีระบบที่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาลงทุนใหม่ ไม่ต้องทำการยืนยันตัวตนผู้ใช้จำนวนมากใหม่ และไม่ต้องมีความเสี่ยงกับการพัฒนาระบบใหม่ที่อาจพบปัญหาเรื่องของความเสถียร และการรองรับผู้ใช้จำนวนมาก นอกจากนี้ผู้ใช้ยังไม่ต้องเสี่ยงกับการลงทะเบียนยืนยันตัวตนในแอปปลอมที่ตอนนี้เริ่มมีออกมาแล้ว
ส่วนเงิน 10,000 บาท ที่จะนำมาใส่ในกระเป๋าเงินดิจิทัลจะอยู่ในรูปเงินดิจิทัลหรือจะเป็นคูปองดิจิทัล แล้วรัฐบาลใหม่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาพัฒนาก็สามารถที่จะทำได้แต่อาจต้องใช้เวลา เพราะหลายประเทศยังอยู่ในช่วงของการทดลองใช้ และยังมีอุปสรรคบางอย่างหากต้องรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก นอกจากนี้ก็อาจจะต้องมีการลงทุนที่ค่อนสูง ถ้าทำสำเร็จก็คงเป็นอย่างที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศในตอนหาเสียงว่า เราจะเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีการชำระเงินในบล็อกเชน และอาจทำให้เราเป็นศูนย์กลางของการใช้และพัฒนาบล็อกเชนในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก
แต่อย่างไรก็ตามฟังก์ชันที่ต้องการใช้ เทคโนโลยีบล็อกเชนในการพัฒนา เช่น การควบคุมการชำระเงิน ก็สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยการเขียนโปรแกรมควบคุมได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าต้องการจะพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนไม่สูงนักและอาจเริ่มต้นได้ทันที เราก็อาจจะใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลและเงินบาทปกติแจกจ่ายได้ทันทีเช่นกัน เพียงแต่เราอาจไม่บรรลุเป้าหมายของการเป็นผู้นำการพัฒนาบล็อกเชนหรือการสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้เงินดิจิทัล
ส่วนจะเอาเงินมาจากไหน หรือแจกเป็นคูปองดิจิทัลแทนและให้สามารถชำระสินค้าได้ถูกต้องตามกฎหมายก็คงเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่ต้องไปดำเนินการต่อไป