ขึ้นค่าแรง 46-72 บาท นายจ้างเตรียมตัวให้พร้อม
ถึงแม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท พร้อมกันทั้งประเทศหรือไม่ ดังนั้นการจะปรับขึ้นตามนโยบายจะทำให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางต้องมีมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกวันละ 46-72 บาท เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้
ความสำเร็จในด้านคะแนนนิยมจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ปรับขึ้น 79-141 บาท เมื่อปี 2555-2556 เพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศที่ 300 บาท ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นนโยบายหาเสียง โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่ใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำในการหาเสียง และสุดท้ายพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท จากที่หาเสียงไว้จะปรับขึ้นเป็นวันละ 600 บาท ภายในปี 2570 ถ้า
การประกาศของนายกรัฐมนตรีทำให้กระทรวงแรงงานเร่งเตรียมประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เพื่อพิจารณาปรับค่าจ้างตามที่รัฐบาลกำหนด โดยจะต้องหาข้อสรุปว่าจะปรับขึ้นทันทีทั่วประเทศเป็นวันละ 400 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.2567 หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดอีกครั้งในรอบ 10 ปี เพราะต้องปรับขึ้น 46-72 บาท ในขณะที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 มีการปรับขึ้น 15-18 บาท มาอยู่ที่ 328-354 บาท
ถึงแม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท ใช้อัตราเดียวหรือไม่ แต่การที่รัฐบาลหาเสียงไว้แล้วจึงลำบากที่จะขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดเฉพาะจังหวัด ดังนั้นการจะปรับขึ้นตามนโยบายจะทำให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางต้องมีมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกวันละ 46-72 บาท โดยกระทรวงแรงงานมีแผนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในเดือน พ.ย.2566 และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจอยู่ที่ 46-72 บาท จึงมีความเป็นไปได้ หากรัฐบาลต้องการให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ไม่ว่าจะเป็นการปรับทีเดียว หรือ ปรับขึ้นแบบขั้นบันได 2 ครั้ง เหมือนปี 2556 หลังจากนี้คงยากที่จะยุตินโยบายหาเสียงจากค่าแรง โดยการปรับค่าจ้างพิจารณาจากเศรษฐกิจและเงินเงินเฟ้อจังหวัด และความสามารถการจ่ายของนายจ้าง แต่คณะกรรมการค่าจ้างที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน จะต้องทำหน้าที่รับสนองนโยบายรัฐบาลให้ได้
หลังจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในการจ่ายค่าจ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางประกาศ ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับผลิตภาพแรงงาน และต้องการให้มีการเพิ่มค่าจ้างให้กับแรงงานที่มีฝีมือ โดยกระทรวงแรงงานระบุว่าผลิตภาพแรงงานเป็นการวัดสัดส่วนผลผลิตต่อหน่วยของแรงงาน เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพของแรงงาน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่นายจ้างต้องการผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ