แจกเงินดิจิทัล เสียงค้านที่นายกฯ ต้องฟัง
นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ มองว่าประโยชน์ที่ประเทศจากนโยบายการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท รวมวงเงิน 560,000 ล้านบาท จะได้รับน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลควรรับฟัง เพราะอาจทำให้ประเทศเสียโอกาสการใช้งบประมาณเพื่อลงทุนด้านอื่น
การแสดงออกต่อนโยบายการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท รวมวงเงิน 560,000 ล้านบาท ของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล เพราะเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเพื่อแสดงออกในเชิงนโยบายที่รัฐบาลเพื่อไทยจำเป็นต้องรับฟัง เพราะวงเงิน 560,000 ล้านบาท ทำให้เสียโอกาสลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้าง digital infrastructure การลงทุนบริหารจัดการน้ำ
นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ มองว่าประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก รวมทั้งเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังระยะยาว และหากจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทย และความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ที่ประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัลให้ผู้มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปทุกคน ควรที่จะรับฟังความเห็นดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่เฉพาะข้อคิดเห็นของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน แต่ได้มีข้อเสนอจากหลายองค์กรต่อนโยบายดังกล่าว เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ล้วนไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินในลักษณะถ้วนหน้าเช่นนี้
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีกระทรวงการคลังเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัลครอบคลุมต้นน้ำปลายน้ำ แนวนโยบาย รวมถึงการพิจารณากลไกดำเนินงาน งบประมาณ การติดตามตรวจสอบการทุจริต รวมทั้งสรุปและรายงานผลต่อ ครม.เพื่อให้รับทราบผลการดำเนินงาน และกำหนดเป้าหมายชัดเจนที่จะเริ่มจ่ายเงินวันที่ 1 ก.พ.2567
รัฐบาลย่อมมีข้อมูลสถานะการคลังครบถ้วนอยู่แล้ว และหากยังคงตัดสินใจเดินหน้าโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล 560,000 ล้านบาท รัฐบาลจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ได้คุ้มเสีย แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามได้ก็ควรหารูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ ซึ่งมีหลายข้อเสนอก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการจ่ายเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพราะงบประมาณ 560,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก และอาจทำให้ประเทศเสียโอกาสการใช้งบประมาณเพื่อลงทุนด้านอื่น