แลนด์บริดจ์ จุดขายใหม่ 'ประเทศไทย'
การขับเคลื่อนแลนด์บริดจ์เป็นเรื่องจำเป็นเพราะประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ
ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อต่อยอดการลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ซึ่งทำให้ต่างชาติสนใจในการเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และแม้ว่าการขับเคลื่อนที่ผ่านมาจะไม่สมบูรณ์ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันจำเป็นต้องขับเคลื่อนต่อ
“แลนด์บริดจ์” หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เป็นโครงการที่เริ่มต้นแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2548 และไม่ได้รับการขับเคลื่อนต่อในรัฐบาลหลังจากนั้น ในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้ามาขับเคลื่อน แต่ยังไม่สำเร็จเพราะรัฐบาลครบวาระไปก่อน และในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศที่จะขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ รวมทั้งมีแผนที่จะโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อดึงการลงทุนจากต่างชาติ
การขับเคลื่อนแลนด์บริดจ์เป็นเรื่องจำเป็นเพราะประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะเชื่อมการขนส่งด้วยรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์และท่าขนส่งน้ำมัน ซึ่งจะลงทุนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ให้สิทธิเอกชนพัฒนาและบริหารเป็นเวลา 50 ปี
การพัฒนาในเฟสที่ 1 จะมีมูลค่าการลงทุน 522,844 ล้านบาท โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำโครงการแลนด์บริดจ์ไปโรดโชว์ นำเสนอระหว่างการเยือนจีนและซาอุดีอาระเบียในช่วงปลายเดือน ต.ค.2566 รวมทั้งจะนำไปเสนอกับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่สหรัฐระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย.2566 และนำเสนอกับผู้นำที่เข้าร่วมประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit ในวันที่ 14-17 ธ.ค.2566 ที่ญี่ปุ่น
ถึงแม้การขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์จะต้องใช้พลังมาก แต่รัฐบาลจำเป็นต้องเพื่อสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ให้กับประเทศไทย โดยต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนถึงกลุ่มลูกค้าทั้งฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงศึกษาโอกาสที่สายเดินเรือกลุ่มที่แวะที่ท่าเรือระนองและท่าเรือชุมพร เพราะเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกา มีเพียงส่วนหนึ่งที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของโครงการแลนด์บริดจ์เท่านั้น